FOX SEARCHLIGHT PICTURES

ขอเสนอ

ผลงานการสร้างของ DJ FILMS / GASWORKS MEDIA

โดห์นัลล์ กลีสัน

มาร์โกต์ ร็อบบี

เคลลี แม็คโดนัลด์

อเล็กซ์ ลอว์เธอร์

สตีเฟน แคมป์เบลล์ มัวร์

วิคกี เปปเปอร์ดีน

ริชาร์ด แม็คเคบ

เจรัลดีน โซเมอร์วิลล์

ฟีบี วอลเลอร์-บริดจ์

ขอแนะนำ วิลล์ ทิลสตัน

กำกับโดย ไซมอน เคอร์ติส

เขียนบทโดย แฟรงค์ คอตเทรลล์-บอยซ์ ,ไซมอน วอห์น

อำนวยการสร้างโดย .เดเมียน โจนส์ p.g.a. ,สตีฟ คริสเตียน p.g.a.

ผู้กำกับภาพ .เบน สมิทฮาร์ด BSC

ผู้ออกแบบงานสร้าง .เดวิด โรเจอร์

ผู้ตัดต่อ.วิคทอเรีย บอยเดลล์

ผู้อำนวยการสร้างบริหาร.ไซมอน เคอร์ติส.ไซมอน วอห์น

ผู้ร่วมอำนวยการสร้าง .มาร์ค ฮับบาร์ด

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย .โอดิล ดิคส์-มิโรซ์

ผู้ออกแบบทรงผม แต่งหน้า และแต่งหน้าเทคนิคพิเศษ..ชาน กริกก์

ดนตรีโดย.คาร์เทอร์ เบอร์เวลล์

ผู้ควบคุมดนตรี .ซาราห์ บริดจ์

คัดเลือกนักแสดงโดย.อเล็กซ์ จอห์นสัน CDG www.foxsearchlight.com/press

ความยาวภาพยนตร์ 119 นาที

GOODBYE CHRISTOPHER ROBIN นำเสนอภาพความสัมพันธ์ระหว่างนักเขียนวรรณกรรมเด็กที่ได้รับการยกย่อง เอ เอ มิลน์ (โดห์นัลล์ กลีสัน) กับลูกชาย คริสโตเฟอร์ โรบิน (วิลล์ ทิลสตัน) เมื่อของเล่นของเด็กน้อยได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้โลกอันมหัศจรรย์ของวินนี-เดอะ-พูห์ จึงทำให้คริสโตเฟอร์ โรบินและครอบครัว อันรวมถึง ดาฟเน (มาร์โกต์ ร็อบบี) แม่ของโรบิน และพี่เลี้ยง โอลีฟ (เคลลี แม็คโดนัลด์) ต้องมาตกอยู่ภายใต้อิทธิพลจากความสำเร็จระดับสากลของหนังสือชุดนี้ ซึ่งเป็นนิทานที่ช่วยสร้างความหวังและปลอบประโลมชาวอังกฤษช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง แต่เมื่อสายตาคนทั้งโลกจับจ้องอยู่ที่คริสโตเฟอร์ แล้วครอบครัวนี้จะต้องเผชิญผลกระทบอย่างไร

GOODBYE CHRISTOPHER ROBIN แสดงโดย โดห์นัลล์ กลีสัน (THE REVENANT, STAR WARS: THE FORCE AWAKENS), มาร์โกต์ ร็อบบี (SUICIDE SQUAD, THE WOLF OF WALL STREET), เคลลี แม็คโดนัลด์ (SWALLOWS AND AMAZONS, “Boardwalk Empire”), อเล็กซ์ ลอว์เธอร์ (THE IMITATION GAME) และนักแสดงหน้าใหม่ วิลล์ ทิลสตัน นอกจากนี้ยังร่วมด้วยสตีเฟน แคมป์เบลล์ มัวร์ (SEASON OF THE WITCH), วิคกี เปปเปอร์ดีน (MY COUSIN RACHEL), ริชาร์ด แม็คเคบ (CINDERELLA), เจรัลดีน โซเมอร์วิลล์ (MY WEEK WITH MARILYN) และฟีบี วอลเลอร์-บริดจ์ (THE IRON LADY)

ภาพยนตร์เรื่องนี้กำกับโดยไซมอน เคอร์ติส (WOMAN IN GOLD, MY WEEK WITH MARILYN) จากบทภาพยนตร์โดยแฟรงค์ คอตเทรลล์-บอยซ์ (THE RAILWAY MAN, MILLIONS) และไซมอน วอห์น (“War and Peace,” “Ripper Street”) ผู้อำนวยการสร้าง ได้แก่ เดเมียน โจนส์, p.g.a. (ABSOLUTELY FABULOUS: THE MOVIE, THE LADY IN THE VAN) และสตีฟ คริสเตียน, p.g.a. (BELLE, THE LIBERTINE) โดยมีเคอร์ติสและวอห์นรับหน้าที่เป็นผู้อำนวยการสร้างบริหาร และมาร์ค ฮับบาร์ดเป็นผู้ร่วมอำนวยการสร้าง (ABSOLUTELY

FABULOUS: THE MOVIE) ทีมงานเบื้องหลัง ได้แก่ ผู้กำกับภาพ เบน สมิทฮาร์ด (MY WEEK WITH MARILYN, “Cranford”), นักออกแบบงานสร้างผู้ชนะรางวัล BAFTA เดวิด โรเจอร์ (“The Secret Agent,” “Great Expectations”), ผู้ตัดต่อ วิคทอเรีย บอยเดลล์ (THE SECOND BEST EXOTIC MARIGOLD HOTEL, BELLE), นักออกแบบเครื่องแต่งกายผู้ชนะรางวัล BAFTA โอดิล ดิคส์-มิโรซ์ (BROOKLYN, THE CONSTANT GARDENER), นักแต่งหน้าทำผมและแต่งหน้าเทคนิคพิเศษผู้ชนะรางวัลออสการ์ ชาน กริกก์ (THE REVENANT, ANNIHILATION), ดนตรีโดยผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ คาร์เทอร์ เบอร์เวลล์ (CAROL) และผู้ควบคุมดนตรี ซาราห์ บริดจ์ (THE THEORY OF EVERYTHING)

ข้อมูลงานสร้างภาพยนตร์

GOODBYE CHRISTOPHER ROBIN นำเสนอเรื่องราวการสร้างสรรค์ตัวละครสำหรับเด็กอันเลื่องชื่อ วินนี-เดอะ-พูห์ ทีมงานผู้กำกับไซมอน เคอร์ติส และผู้อำนวยการสร้าง เดเมียน โจนส์ และสตีฟ คริสเตียนผู้ล่วงลับ รวมถึงมือเขียนบทแฟรงค์ คอตเทรลล์-บอยซ์ และไซมอน วอห์น ได้นำชีวิตอันไม่ธรรมดาของ เอ เอ มิลน์ ผู้สร้างตัวละครนี้มาสู่จอภาพยนตร์ ด้วยการสร้างโลกที่มีภาพงดงามและสีสันน่าตื่นตาตื่นใจ โดยมีฉากหลังเป็นอังกฤษยุคหลังสงครามซึ่งผู้คนต่างรอคอยอะไรสักอย่าง อะไรก็ได้ที่ช่วยสร้างความเบิกบานใจ

เมื่อนักเขียน เอ เอ มิลน์ ออกจากลอนดอนเพื่อไปใช้ชีวิตในชนบทของอังกฤษ การเปลี่ยนแปลงอย่างไม่คาดฝันจากการเป็นนักเขียนความเรียงและบทละครได้ผลักดันเขาไปสู่บทบาทซึ่งจะเป็นที่จดจำไปตลอดกาล ในพื้นที่ป่าของอีสต์ซัสเซ็กส์ มิลน์เริ่มต้นเขียนนิทานให้ลูกคนเดียวของเขา คริสโตเฟอร์ โรบิน เรื่องราวอันน่ามหัศจรรย์นี้นำแสดงโดยเด็กน้อยกับเหล่าตุ๊กตาซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยตัวที่มีชื่อเสียงมากที่สุดก็คือตุ๊กตาหมีเท็ดดีแบร์ซึ่งมีชื่อว่าวินนี-เดอะ-พูห์ เรื่องราวเหล่านี้ได้รวมออกมาเป็นหนังสือสองเล่ม คือ Winnie-the-Pooh และ The House at Pooh Corner ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างรวดเร็วเมื่อตีพิมพ์ในปี 1926 และ 1928 ตามลำดับ และยังคงเป็นหนังสือที่เด็กๆ นิยมอ่านกันทั่วโลกมาเกือบศตวรรษแล้ว

การเดินทางของ GOODBYE CHRISTOPHER ROBIN’S สู่จอภาพยนตร์เริ่มต้นขึ้นเมื่อมือเขียนบทและผู้อำนวยการสร้างบริหาร ไซมอน วอห์น ได้ติดต่อผู้อำนวยการสร้างโจนส์และคริสเตียนพร้อมด้วยบทภาพยนตร์ร่างแรกๆ เกี่ยวกับความเป็นมาของตัวละครหมีที่หลายคนชื่นชอบของมิลน์ “ทุกคนรู้จัก วินนี-เดอะ-พูห์” คริสเตียนกล่าว “เราทุกคนเติบโตมากับนิทานเหล่านั้น แต่น้อยคนนักที่จะรู้เรื่องราวเบื้องหลังหมีพูห์ เราคิดว่าคนน่าจะได้รู้เรื่องนี้กันมากกว่านี้”

“ไซมอนค้นพบเรื่องราวนี้ และบทฉบับร่างก็เล่าเรื่องราวสุขปนเศร้าระหว่างพ่อลูกซึ่งเป็นต้นกำเนิดหนังสือเด็กอันเป็นที่รักเล่มนี้” โจนส์กล่าว แม้เขายอมรับว่าไม่เคยคิดมาก่อนเลยว่าที่จริงแล้วคริสโตเฟอร์ โรบินก็คือ คริสโตเฟอร์ ลูกชายของมิลน์ “เป็นเรื่องน่าทึ่งที่เราได้รู้ว่าหมีพูห์มาจากไหน” เขากล่าว “เช่นเดียวกับสตีฟ ผมรู้สึกว่าเป็นความรับผิดชอบที่จะต้องเผยเรื่องนี้ให้โลกรู้”

เมื่อผู้อำนวยการสร้างติดต่อมือเขียนบทผู้ชนะรางวัล แฟรงค์ คอตเทรลล์-บอยซ์ (Millions, ซีรีส์ Chitty Chitty Bang Bang) เพื่อขอคำแนะนำในการพัฒนาบทให้ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น โครงการนี้ก็เริ่มขับเคลื่อนไปข้างหน้า

ทีมผู้อำนวยการสร้างยกระดับหน้าตาของหนังเรื่องนี้ขึ้นมาได้มากเมื่อผู้กำกับไซมอน เคอร์ติส ตกลงมาร่วมทีม “ผมคิดว่าความโรแมนติกและความอบอุ่นของไซมอนเหมาะมากกับเรื่องนี้” โจนส์กล่าว “เขาให้ความเห็นที่ยอดเยี่ยมเกี่ยวกับตัวบทและมีบทสนทนาที่ดีเยี่ยมกับแฟรงค์ เขาจึงน่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะกับหนังเรื่องนี้” ฝันกลายเป็นจริงเมื่อทีมงานได้นักแสดงที่กำลังมาแรงอย่างโดห์นัลล์ กลีสัน และมาร์โกต์ ร็อบบีมารับบทนำเป็นมิสเตอร์และมิสซิส เอ เอ มิลน์

“ผมว่ามิลน์เป็นนักเขียนที่เก่งมาก” บอยซ์กล่าว “และเรื่องนี้ก็พูดถึงความสำเร็จและผลลัพธ์ที่ตามมาซึ่งเป็นประเด็นที่น่าสนใจอยู่แล้ว เอ เอ มิลน์ ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่และไม่คาดฝัน ซึ่งสร้างปัญหาให้ตัวเขาและโดยเฉพาะอย่างยิ่งลูกชายของเขาด้วย ไม่ค่อยมีเรื่องราวที่เล่าว่าความสำเร็จอาจทำให้ชีวิตเราลำบากได้อย่างไรให้เห็นบ่อยนักหรอกครับ”

แม้งานเขียนของมิลน์เป็นที่ชื่นชอบของเด็กๆ ทั่วโลกมาเกือบศตวรรษ แต่ทีมผู้สร้างตกลงกันตั้งแต่ต้นว่าต้องการทำหนังเรื่องนี้ให้เป็นหนังดรามาสำหรับผู้ใหญ่ “หนังเรื่องนี้บรรยายภาพการเป็นพ่อแม่ในอีกยุคหนึ่งได้อย่างน่าสนใจ” โจนส์กล่าว “แต่นอกจากเรื่องราวอันมหัศจรรย์เกี่ยวกับพ่อและลูกชายที่ได้อยู่ด้วยกันตามลำพัง และสร้างโลกที่ตั้งใจให้เป็นโลกส่วนตัวของพวกเขาสองคน เรายังพูดถึงอาการเครียดหลังเกิดเหตุสะเทือนใจ (PTSD) หรือที่สมัยนั้นเรียกกันว่า ‘เชลล์ช็อค’ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง มิลน์กลับจากสงครามโดยได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจและการหนีออกไปยังชนบทก็เป็นจุดเริ่มต้นของหมีพูห์”

ผู้กำกับ ไซมอน เคอร์ติส หลงใหลบทภาพยนตร์ทันทีที่เขาได้อ่าน “มันพูดถึงประเด็นต่างๆ มากมายที่ผมสนใจ เรื่องของการเป็นพ่อคนแม่คน การมีลูกและไม่อยากปล่อยให้ลูกไป เป็นเรื่องของอังกฤษช่วงคั่นกลางระหว่างสงครามซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญมาก แล้วก็ยังเกี่ยวกับการสร้างสรรค์ เกี่ยวกับการเขียนเรื่องราวที่มีคนชื่นชอบกันมากที่สุดเรื่องหนึ่งเท่าที่มีการเขียนกันมา”

บอยซ์กล่าวว่าเคอร์ติสเป็นผู้กำกับที่แตกต่างจากคนอื่นๆ ที่เขาเคยทำงานด้วย “เขาเตรียมตัวมาเต็มร้อยและยอมทุ่มเทเพื่อให้ได้สิ่งที่ใช่ สถานที่ถ่ายทำที่ใช่ และนักแสดงที่ใช่ เขามุ่งความสนใจไปยังสิ่งสำคัญเป็นหลัก ไซมอนสามารถใช้สถานที่จริงแล้วทำให้มันดูพิเศษขึ้นมาได้ แทนที่จะต้องหาสถานที่ที่ดูพิเศษตั้งแต่แรก”

ผู้กำกับรายนี้พร้อมที่จะประทับตราซึ่งบ่งบอกเอกลักษณ์ของตัวเองลงไปในหนังเรื่องนี้ เขากลายเป็นผู้สนับสนุนคนสำคัญของหนัง คริสเตียนกล่าวว่า “ไซมอนรู้แน่ชัดว่าต้องการนำหนังเรื่องนี้ไปยังทิศทางใด เขาวางวิสัยทัศน์ให้หนังเรื่องนี้ทันที และยิ่งกว่านั้นเขากระตือรือร้นอยากทำหนังเรื่องนี้ เมื่อไซมอนและแฟรงค์มาร่วมงานกัน ผลลัพธ์ที่ได้ก็จะยิ่งทบเท่าทวีคูณ และนั่นเป็นแค่โชคดีส่วนหนึ่งเท่านั้น ทุกคนมาอยู่ถูกที่ถูกเวลาได้อย่างประจวบเหมาะและยังมีแนวคิดไปในทางเดียวกันอีกด้วย”

เคอร์ติสบรรยายว่าหนังเรื่องนี้พูดถึงการที่นิทานเหล่านี้ทำให้มิลน์ร่ำรวยและมีชื่อเสียงโด่งดังเกินคาดคิดจนส่งผลกระทบต่อครอบครัวด้วย “แต่แก่นสำคัญของหนังก็คือช่วงเวลาอันมหัศจรรย์เมื่อพ่อลูกอยู่ด้วยกันตามลำพังในชนบทเป็นครั้งแรก พวกเขาได้ค้นพบกันและกัน เพลิดเพลินไปกับจินตนาการของอีกฝ่าย และสิ่งนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้มิลน์เขียนวินนี-เดอะ-พูห์ขึ้นมา ช่วงเวลาที่เขาใช้ร่วมกับคริสโตเฟอร์ โรบินช่วยให้เขาฟื้นจากอาการที่ปัจจุบันเราเรียกกันว่า PTSD”

แม้ว่าหนังเน้นไปยังช่วงเวลาสองสามปีที่วินนี-เดอะ-พูห์ถือกำเนิดขึ้นมาและปรากฏการณ์ระดับโลกหลังจากนั้น แต่ GOODBYE CHRISTOPHER ROBIN ก็ให้ภาพมุมกว้างของอังกฤษในยุคสมัยอันยากลำบากด้วย “วินนี-เดอะ-พูห์และผองเพื่อนสร้างมนต์ขลังให้ผู้คนหลงใหลด้วยความบริสุทธิ์ไร้เดียงสาของพวกเขา แต่ที่จริงตัวละครเหล่านี้เกิดขึ้นมาในช่วงเวลาที่อังกฤษกำลังเผชิญความทุกข์ยากและเขียนโดยชายซึ่งได้รับความบอบช้ำจาก

สงครามโลกครั้งที่หนึ่ง” เคอร์ติสอธิบาย “ทั้งหมดนี้ รวมถึงเรื่องที่ว่าแฟรงค์ คอตเทรลล์-บอยซ์ เป็นมือเขียนบทที่ผมชอบ จึงทำให้ผมสนใจโครงการนี้อย่างยิ่งครับ”

ค้นหาครอบครัวมิลน์

อลัน อเล็กซานเดอร์ มิลน์ ซึ่งเพื่อนฝูงและครอบครัวรู้จักกันในชื่อ “บลู” และคนทั่วโลกรู้จักในฐานะผู้ให้กำเนิด วินนี-เดอะ-พูห์ เป็นนักเขียนเรื่องขำขันที่มีชื่อเสียงและเป็นนักเขียนบทละครในย่านเวสต์เอนด์ที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้วตอนที่เขาเริ่มมีชื่อเสียงโด่งดังมาจากหนังสือเด็ก ด้วยเป็นที่รู้จักจากเรื่องตลกที่มีชั้นเชิงและผ่อนคลายในแบบของโนเอล คาวเวิร์ด มิลน์จึงไม่คาดคิดว่านิทานเพ้อฝันที่เขาแต่งให้ลูกชายจะช่วยให้เขามีชื่อเสียงเป็นอมตะในแวดวงวรรณกรรม และทำให้ลูกชายที่เขาเรียกชื่อว่า “บิลลี มูน” ต้องกลายเป็นคนดังภายใต้แสงสป็อตไลต์

นักแสดงชาวไอริช โดห์นัลล์ กลีสัน ผู้รับบทเป็นมิลน์ เพิ่งเสร็จสิ้นจากการถ่ายทำ STAR WARS: THE LAST JEDI และรอเวลาที่จะได้หยุดพัก ตอนนั้นเองที่ตัวแทนขอให้เขาอ่านบทเรื่องนี้ “ผมอ่านจบอย่างรวดเร็วซึ่งนับเป็นนิมิตหมายอันดี” กลีสันกล่าว “ที่จริงผมต้องอ่านอยู่สองสามรอบถึงได้รู้ว่ามีอะไรอยู่มากมายในบทหนังเรื่องนี้ ทุกครั้งที่ผมอ่าน ผมก็ยิ่งตั้งคำถามมากขึ้นเรื่อยๆ ตัวบทยิ่งลึกซึ้งมากขึ้นเรื่อยๆ การที่ผมชอบไซมอนมากก็เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ผมอยากเล่นเรื่องนี้ด้วย”

ผู้กำกับกล่าวว่ากลีสันต้องศึกษาอย่างลึกซึ้งเพื่อรับบทเป็นมิลน์ ชายผู้มีบุคลิกภาพตรงกันข้ามกับตัวเขา “โดห์นัลล์มีธรรมชาติเป็นคนชอบเข้าสังคมอยู่แล้ว” เคอร์ติสกล่าว “เขาต้องรับบทเป็นผู้ชายที่ชอบเก็บอารมณ์ แต่ความเพลิดเพลินนั้นอยู่ที่การหาจุดรั่วในกำแพง ซึ่งก็คือช่วงเวลาที่เขาค้นพบความรักและความสนุกสนาน”

เคอร์ติสตื่นเต้นที่มาร์โกต์ ร็อบบีก็สนใจบทหนังเรื่องนี้ด้วย “ผมชอบทำงานกับเธอและคิดว่าเธอเป็นคนพิเศษมากทีเดียว” เขากล่าว “สำหรับโดห์นัลล์และมาร์โกต์ ผมถือว่าได้นักแสดงรุ่นใหม่ที่ฉลาดและเก่งที่สุดมาสองคน ผมไม่เคยทำงานกับทั้งคู่มาก่อนและพบว่าเป็นการทำงานที่สนุกมาก พวกเขาช่วยเสริมบทบาทที่ได้รับเป็นอย่างดี”

ดาฟเน มิลน์ มีบทบาทสำคัญไม่น้อยต่อการสร้าง เอ เอ มิลน์ ให้กลายเป็นนักเขียนวรรณกรรมเด็ก เธอมอบตุ๊กตาสัตว์ที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดพูห์ พิกเล็ต และตัวละครอื่นๆ ให้แก่คริสโตเฟอร์ โรบิน และทั้งสองก็เล่นเกม

ต่างๆ มากมายกับตุ๊กตาเหล่านี้ เมื่อสามีของเธอเขียนบทกวีบทแรกให้ลูก ดาฟเนก็ช่วยจัดแจงให้บทกวีนี้ได้รับการตีพิมพ์ “เธอกลายเป็นแรงผลักดันสำคัญ” ร็อบบีกล่าว “เธอทำทุกอย่างด้วยความตั้งใจดีโดยไม่เคยตระหนักว่ามันได้สร้างความเครียดให้เกิดขึ้นในครอบครัว พวกเขาไม่เคยคาดหวังว่าเรื่องราวของวินนี-เดอะ-พูห์จะกลายเป็นปรากฏการณ์เช่นที่เกิดขึ้น และไม่ได้นึกฝันเลยว่าลูกชายจะกลายเป็นบุคคลที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคนหนึ่งในอังกฤษ”

ด้วยความมุ่งมั่นที่จะนำเสนอภาพนักเขียนที่ผู้คนชื่นชอบเช่นที่ควรจะเป็น กลีสันจึงศึกษาข้อมูลเต็มที่ เริ่มต้นด้วยการอ่านชีวประวัติซึ่งเขียนโดยธเวต จากนั้นก็อ่านบันทึกความทรงจำของคริสโตเฟอร์ โรบิน มิลน์ “เวลารับบทเป็นบุคคลจริง เราไม่ได้ทำหนังสารคดี ถึงแม้ว่าเราอยากนำเสนอบุคคลนั้นให้ถูกต้องตามความเป็นจริงก็ตาม” เขากล่าว “แต่มันก็ต้องเข้ากับเรื่องที่คุณพยายามจะเล่าและเรื่องนี้ก็ไม่ใช่แค่เรื่องของอลัน”

กลีสันได้แรงบันดาลใจจากสิ่งที่ เอ เอ มิลน์ ไม่ได้เปิดเผย มากพอกันกับสิ่งที่เขาเปิดเผยเกี่ยวกับตัวเอง “คริสโตเฟอร์ มิลน์ เคยพูดประโยคอันโด่งดังว่าพ่อของเขาใช้ชีวิตทั้งชีวิตโดยกลัดกระดุมหัวใจเอาไว้ในอก” นักแสดงรายนี้กล่าว “ในหนังสือของคริสโตเฟอร์ พ่อของเขาจะรีบตัดบทเมื่อพูดถึงสงคราม อย่างมากเขาก็พูดแค่ว่า ‘พ่อโชคดีมาก’ เขาอาจพูดถึงการเห็นคนอื่นๆ เสียชีวิตแต่ก็เป็นการพูดถึงเพียงผ่านๆ ส่วนใหญ่เขาใส่ใจแต่เรื่องวัยเด็กซึ่งดูสวยสดงดงาม จากนั้นก็พูดถึงงานของตัวเองบ้างเล็กน้อย”

กลีสันเชื่อว่าการไปพักผ่อนในชนบทของมิลน์นั้นเป็นความพยายามที่จะหาความสงบสุขทางจิตใจ “ผมคิดว่าธรรมชาติช่วยปลอบประโลมเขา เขามีความหวังขึ้นมาบ้างเมื่อได้เห็นลูกชายเติบโตในสถานที่อันบริสุทธิ์หลังจากสัมผัสด้านเลวร้ายที่สุดของมนุษย์อย่างชัดเจนแจ่มแจ้งมาแล้ว และอย่างที่ปรากฏในหนัง เขาได้ค้นพบยาถอนพิษอย่างแท้จริง”

นักแสดงรายนี้ชื่นชมแนวทางการทำหนังของเคอร์ติสที่เน้นการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย “เขาปล่อยให้คุณลองทำทุกอย่าง คุณจะรู้สึกว่ามีพื้นที่ให้ขยับได้ แต่ทั้งหมดอยู่ในกรอบที่เขาวางเอาไว้และมุ่งหน้าไปตามทิศทางที่เขากำหนด เขาสนใจสิ่งที่ดีที่สุดที่แต่ละคนจะนำเสนอ และสำหรับผู้กำกับ นั่นคือสิ่งสำคัญครับ”

ดาฟเน ภรรยาของมิลน์ มีความน่าทึ่งในหลายๆ ด้าน แต่เธอไม่มีเวลามาร้องไห้หรือทำตัวอ่อนไหว เธอรักษาระยะห่างจากลูกเช่นเดียวกับผู้หญิงคนอื่นๆ ในชนชั้นเดียวกัน และชอบความคึกคักในสังคมลอนดอนมากกว่าชีวิตอันเงียบสงบในชนบท

“บทของดาฟเนสามารถเขียนออกมาให้แบนเรียบก็ได้” โจนส์ตั้งข้อสังเกต “แต่แฟรงค์กลับเขียนตัวละครที่สมบูรณ์และงดงาม ความสัมพันธ์กับลูกชายและสามีของเธอนั้นละเอียดอ่อนและซับซ้อน”

สำหรับนักแสดงชาวออสเตรเลีย มาร์โกต์ ร็อบบี ซึ่งมีชื่อเสียงจากบทบาทใน SUICIDE SQUAD และ THE WOLF OF WALL STREET การรับบทเป็นดาฟเน มิลน์นับเป็นความท้าทายที่แตกต่างโดยสิ้นเชิง “เราเคยเห็นมาร์โกต์ทำสิ่งที่มาร์โกต์ทำได้ดีมากมาแล้ว” คริสเตียนกล่าว “คุณนึกออกไหมล่ะว่าจะมีอะไรที่แตกต่างจาก SUICIDE SQUAD มากไปกว่าการรับบทเป็นดาฟเน มิลน์ แต่เธอกลับจู่โจมความท้าทายนี้ได้อย่างยอดเยี่ยมตั้งแต่วันแรก เป็นบทที่แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากทุกบทที่เธอเคยเล่นมา”

ตามความเห็นของบอยซ์ การเลือกร็อบบีมารับบทเป็นสาวสังคมจอมบงการผู้เปราะบางนั้นนับเป็นการตัดสินใจที่ชาญฉลาดอย่างยิ่ง “ในบทหนัง ดาฟเนเป็นตัวละครที่น่าตื่นเต้น แต่เธอก็ไร้ความเห็นอกเห็นใจและยากที่เราจะชอบเธอได้ เธอไม่ได้เป็นตัวร้ายเสียทีเดียว แต่ก็ไม่ใช่คนน่ารักเลย เมื่อได้มาร์โกต์มารับบท ตัวละครนี้ก็น่าสนใจยิ่งขึ้นกว่าเดิมมาก”

ร็อบบีไม่ได้ตั้งใจจะมองหาบทซึ่งอยู่ห่างไกลจากจุดที่คุ้นเคย แต่เธอกล่าวว่าการรับบทเป็นดาฟเนนั้นเป็นความท้าทายที่แปลกใหม่ “บทหนังเรื่องนี้มีความมหัศจรรย์น่าหลงใหลอยู่ในตัวเองค่ะ” เธอกล่าว “ฉันอยากอยู่ในโลกใบนั้นให้นานขึ้นอีกสักหน่อย แนวทางที่ไซมอนและเดเมียนวางไว้ให้เรื่องราวและตัวละครนั้นผ่านการคิดมาอย่างรอบคอบ ดาฟเนเป็นผู้หญิงที่ซับซ้อนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อคุณมองเธอผ่านสายตาของคนสมัยใหม่ ฉันไม่อยากหลีกเลี่ยงการนำเสนอความผิดของเธอในเรื่องต่างๆ เราหาวิธีการที่จะเปิดรับสิ่งที่เธอเป็นได้โดยไม่ต้องทำให้เธอกลายเป็นตัวร้าย”

สำหรับบทคริสโตเฟอร์ โรบิน ผู้สร้างหนังต้องค้นหานักแสดงเป็นการใหญ่ โดยคัดเลือกจากนักแสดงเด็กผ่านตัวแทนด้านการละคร ตัวแทนโมเดลลิง โรงเรียนการละคร และโรงเรียนประถม หลังจากค้นหามายาวนาน พวก

เขาก็ได้เลือกนักแสดงหน้าใหม่ วิลล์ ทิลสตัน “เราเห็นชัดตั้งแต่แรกแล้วว่าวิลล์ไม่ใช่แค่เข้าถึงบทบาทได้เท่านั้น แต่เขายังมีภาวะอารมณ์และความอดทนเพียงพอที่จะถ่ายทำนานแปดสัปดาห์ในสภาพแวดล้อมที่ไม่คุ้นเคยได้ด้วย” ผู้คัดเลือกนักแสดง อเล็กซ์ จอห์นสันกล่าว

เคอร์ติสกล่าวว่าการค้นหานักแสดงนำที่เกิดในปี 2009 เป็นเหมือนฝันร้ายของผู้กำกับ ครั้งล่าสุดที่เขาเลือกเด็กอายุ 9 ขวบมารับบทนำ ก็คือตอนที่เขาเลือกแดเนียล แรดคลิฟฟ์ มารับงานแสดงงานแรกในบทเดวิด คอปเปอร์ฟีลด์ “การทำงานครั้งนั้นช่วยให้ผมมีความมั่นใจอยู่บ้างว่าเราจะหานักแสดงเด็กได้และเราก็พบ เรายินดีอย่างยิ่งที่พบวิลล์ เขาเป็นเด็กที่น่าทำงานด้วยมากๆ ผมพูดได้เลยว่าวิลล์เป็นนักกแสดงที่ดีที่สุดคนหนึ่งเท่าที่ผมเคยทำงานด้วย แล้วผมก็เคยทำงานกับนักแสดงอย่างเฮเลน มีร์เรน, เคนเนธ บรานาห์ และวาเนสซา เรดเกรฟมาแล้ว วิลล์เข้าใจฉากและทำให้การแสดงเป็นเรื่องง่ายมากๆ เราทุกคนชื่นชมวิลล์ครับ”

คริสเตียนให้ความเห็นว่าท่ามกลางนักแสดงเด็กที่มารับการคัดเลือก ทิลสตันดูโดดเด่นมาตั้งแต่แรก “เหมือนเวลาเดินเข้ามาในห้องที่มีดาราหนังอยู่แล้วรู้สึกถึงแรงดึงดูดได้ทันทีน่ะครับ คุณไม่ค่อยพบอะไรแบบนี้จากเด็กอายุเก้าขวบหรอก เขาเป็นเด็กตัวน้อยที่เยี่ยมจริงๆ”

กลีสัน นักแสดงที่ทำงานใกล้ชิดกับทิลสตันมากที่สุดกล่าวว่า นักแสดงเด็กรายนี้เข้ากับคนอื่นได้ดีตั้งแต่แรก “วิลล์ใจกว้างและใจดี เขายังเล็กมาก แต่มีมุมมองชีวิตที่ดีและทำตัวดีกับคนอื่นๆ วิลล์เป็นส่วนผสมอันน่าทึ่งของหลายสิ่งหลายอย่างและผมชอบทำงานกับวิลล์มากครับ ผมปฏิบัติต่อเขาเหมือนกับที่ทำกับนักแสดงคนอื่นๆ”

ร็อบบีพบว่าทิลสตันมีความเป็นผู้ใหญ่ซึ่งน่าทึ่งสำหรับนักแสดงหน้าใหม่ “เขาจำบทได้แม่นมาก” เธอกล่าว “เขาขอเทคใหม่ถ้าต้องการอีกเทค ฉันยังต้องใช้เวลาอยู่สองสามปีเลยถึงมีความกล้าพอที่จะทำแบบนั้นได้”

น่าแปลกที่ตัวทิลสตันเองดูจะไม่ได้รับผลกระทบจากความสำเร็จอันรวดเร็วเลย “บางครั้งมันก็เหมือนอย่างที่ผมคิดไว้ บางทีก็ไม่ แต่รวมๆ แล้วสนุกมากครับ” นักแสดงเด็กรายนี้กล่าว “ผมต้องไปทดสอบบทนี้สักแปดครั้งได้ ตอนทดสอบบทครั้งแรก ผมอยู่ในห้องนานหนึ่งนาทีแล้วก็ได้แต่พูดชื่อและบอกว่าผมอายุเท่าไหร่ ผมคิดว่า เอ่อ จะทำไปทำไมนะ ดูเหมือนจะจบแค่นี้เอง”

แต่สุดท้ายบทนี้ก็ตกเป็นของเขาและเขาก็ตระหนักดีว่าโชคดีมากเพียงใดที่ได้รับโอกาสนี้ “ผมได้เรียนรู้หลายสิ่งหลายอย่างและรู้จักเพื่อนมากมาย” ทิลสตันกล่าว “ไซมอนช่วยให้ผมได้ปรับปรุงการแสดง ทุกคนใจดีมากและคอยช่วยเหลือผมตลอดเวลาครับ”

พี่เลี้ยงผู้เป็นที่รัก

สำหรับบทพี่เลี้ยงของคริสโตเฟอร์ โรบิน ที่ชื่อโอลีฟ หรือเรียกกันว่านู ผู้สร้างหนังมองว่าเคลลี แม็คโดนัลด์เป็นตัวเลือกอันดับแรกมาตลอด “เคลลีมีความเห็นอกเห็นใจ ความอบอุ่นอ่อนโยน และมีประกายในแววตา” เคอร์ติส กล่าว “เธอเป็นคนที่เราต้องการตั้งแต่แรกและเธอก็ถ่ายทอดบทนี้ออกมาได้ดี”

โอลีฟมาเป็นพี่เลี้ยงของคริสโตเฟอร์ โรบิน ตอนที่เขายังเล็กมาก พ่อแม่ของเขา เช่นเดียวกับพ่อแม่หลายคู่ในรุ่นนั้น มักถอยออกมาอยู่ห่างๆ และเข้ามาดูลูกแค่ไม่กี่นาทีในตอนต้นและตอนท้ายวัน ดังนั้นเธอจึงกลายเป็นคนที่เขารักที่สุดในโลก “คุณต้องมีหลักยึดให้คริสโตเฟอร์ โรบิน” คริสเตียนกล่าว “ตัวละครของเคลลีช่วยให้คุณชอบตัวละครตัวอื่นๆ ได้เพราะคุณรู้ว่าเด็กปลอดภัยดี เธออ่านบทครั้งแรกเมื่อราวสองปีก่อนเป็นอย่างน้อยและกระตือรือร้นอยากรับบทนี้มาตลอด เป็นเรื่องน่ายินดีครับที่นักแสดงซึ่งมีความสามารถเทใจให้เรื่องนี้”

ก่อนมาเล่นหนังเรื่องนี้ แม็คโดนัลด์ยอมรับว่าสิ่งเดียวที่เธอรู้เกี่ยวกับเอ เอ มิลน์ ก็คือเขาเขียนวินนี-เดอะ-พูห์ “เขากับดาฟเนเป็นคู่รักที่มีพลังและหลักแหลมมาก คล้ายๆ กับ เอฟ สก็อตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์” เธอกล่าว “ครอบครัวมิลน์ปฏิบัติต่อเด็กๆ ตามแนวทางที่ค่อนข้างปกติในเวลานั้น แต่พอฉันอ่านอัตชีวประวัติของคริสโตเฟอร์ มิลน์ มันก็น่าสะเทือนใจทีเดียวค่ะ”

แม้ว่าเธอสามารถศึกษาข้อมูลของครอบครัวนี้จากการอ่าน แต่ก็มีข้อมูลน้อยมากเกี่ยวกับโอลีฟ “เธอเป็นผู้หญิงเคร่งศาสนาและเห็นได้ชัดว่ารักเด็กผู้ชายคนนี้” นักแสดงรายนี้กล่าว “แต่ฉันไม่ต้องการให้เธอดูเป็นแม่พระมากเกินไป เธอถูกจ้างให้มาทำงานนี้ แต่ถ้าไม่มีโอลีฟ คริสโตเฟอร์ก็คงตกอยู่ในสถานการณ์ที่เลวร้ายกว่านี้มาก”

แม็คโดนัลด์ขอบคุณเคอร์ติสและทีมผู้อำนวยการสร้างที่ให้โอกาสนักแสดงได้ใส่แนวทางของตนลงไปในตัวละคร เธอกล่าวว่าโดยปกติแล้วตอนที่นักแสดงมาร่วมงาน คนอื่นๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องจะได้มาร่วมโครงการก่อนหน้านั้นนานหลายปีและพัฒนาบทบาทต่างๆ เอาไว้ชัดเจนแล้ว “ข้อดีของการทำงานกับไซมอนคือไม่มีอะไรที่ตายตัว” นักแสดงรายนี้กล่าว “ทุกอย่างมีชีวิตโลดแล่นขึ้นมา เรายินดีมากที่ได้วิลล์มารับบท เขาเป็นนักแสดงที่เก่งที่สุดเท่าที่ฉันเคยทำงานด้วย และโดห์นัลล์ก็น่าทึ่งมากในบทผู้ชายที่แข็งทื่อไร้อารมณ์ในยุคนั้น แต่เขาจะแสดงอารมณ์ออกมาในช่วงเวลาที่พอเหมาะ ทุกช่วงในหนังมีความลึกซึ้งมากค่ะ”

แม้กระทั่งคริสโตเฟอร์ โรบินก็ไม่อาจเป็นเด็กได้ตลอดไป ในฉากหลังๆ ของเรื่อง อเล็กซ์ ลอว์เธอร์ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากบทอลัน ทูริงวัยหนุ่มใน THE IMITATION GAME ได้มารับบทเป็นคริสโตเฟอร์ โรบินวัยหนุ่ม “เราโชคดีมากที่ได้อเล็กซ์มารับบท” เคอร์ติสกล่าว “เขารับงานยากในการเล่นฉากแสดงอารมณ์ช่วงท้ายเรื่อง ทั้งที่ไม่ได้ค่อยๆ พัฒนาบทจากการเล่นหนังทั้งเรื่องเหมือนปกติ แล้วเขาก็ทำหน้าที่ได้ดีมากครับ”

ลอว์เธอร์มองว่าคริสโตเฟอร์ โรบินเป็นเหมือนดาราเด็กยุคแรกเริ่มที่ต้องต่อสู้กับข้อดีและข้อเสียที่เกิดขึ้นจากการมีชื่อเสียงโด่งดังในวัยเด็ก “วินนี-เดอะ-พูห์ได้รับความนิยมมหาศาล” เขากล่าว “เรื่องราวในนั้นเต็มไปด้วยความสนุกสุขสันต์ แต่ก็ปรากฏว่าสิ่งที่เพลิดเพลินในตอนแรกกลับกลายเป็นความยากลำบากทั้งสำหรับคริสโตเฟอร์และอลัน”

นักแสดงรายนี้อ่านอัตชีวประวัติของคริสโตเฟอร์ มิลน์เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับตัวละคร แต่เขากล่าวว่าการแสดงของเขาได้พื้นฐานมาจากสิ่งที่เขาพบในบทภาพยนตร์ของบอยซ์มากกว่า “เมื่อคุณรับบทในหนังชีวประวัติหรือหนังเกี่ยวกับผู้คนที่มีชีวิตอยู่จริง คุณก็ยังคงเล่นสิ่งที่ปรากฏในบทอยู่ดี ดังนั้นสำหรับผมงานเขียนของคริสโตเฟอร์จึงเป็นเพียงจุดอ้างอิงและเอกสารประกอบที่น่าสนใจให้กับบทภาพยนตร์ครับ”

นักแสดงสตีเฟน แคมป์เบลล์ มัวร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ร่วมงานกับโจนส์ใน LADY IN THE VAN และ HISTORY BOYS รับบทเป็น อี เอช เชพพาร์ด ผู้วาดภาพประกอบในหนังสือพูห์ รวมถึง Wind in the Willows ฉบับแรก “เชพพาร์ดมีความสัมพันธ์ที่น่าสนใจกับมิลน์” โจนส์กล่าว “เขาเจอมิลน์ตอนทำงานที่นิตยสาร PUNCH ช่วงก่อนสงคราม

ทั้งคู่มีอาการ PTSD แต่มิลน์เก็บความรู้สึกมากกว่าและรับมือกับเรื่องนี้ได้ยากกว่า ส่วนเชพพาร์ดนั้นรับมือกับอาการนี้ได้ดีกว่า ถึงแม้ว่าจะมีช่วงที่จิตใจบอบช้ำอยู่เหมือนกัน”

มัวร์ได้ดูภาพร่างเริ่มแรกและภาพลายเส้นดั้งเดิมบางส่วนของเชพพาร์ดที่งานนิทรรศการของพิพิธภัณฑ์วิกตอเรียแอนด์อัลเบิร์ตในลอนดอนเมื่อไม่นานมานี้ เขาหลงใหลความเรียบง่ายของงานภาพประกอบอันโด่งดังและการที่ศิลปินสามารถสร้างบุคลิกให้ของเล่นขึ้นมาได้ “เชพพาร์ดถ่ายทอดหลายสิ่งหลายอย่างผ่านองค์ประกอบเพียงน้อยนิด” นักแสดงรายนี้กล่าว “เป็นเรื่องน่าสนใจที่ได้ศึกษาสไตล์การวาดของเขาครับ ผมรู้สึกว่าเข้าใจเขามากขึ้นด้วยการตามลายเส้นเหล่านั้นไป เป็นวิธีเข้าถึงตัวละครที่แปลกดีเหมือนกัน”

กลับสู่บ้านที่มุมหมีพูห์

GOODBYE CHRISTOPHER ROBIN เปิดเรื่องด้วยแสงอันนุ่มนวลแจ่มชัดของชนบทอังกฤษที่ฟาร์มคอตช์ฟอร์ด สถานที่พักผ่อนในท้องทุ่งที่มิลน์และดาฟเนสร้างขึ้นเพื่อให้มิลน์ได้พักฟื้น จากนั้นจึงย้อนกลับไปยังการรบที่ซอมม์เมื่อปี 1916 ซึ่งมิลน์ได้เผชิญความเลวร้ายของสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง และย้อนกลับไปยังลอนดอนที่คึกคักในยุคทศวรรษ 1920 และคนกลุ่ม Bright Young Things ซึ่งเป็นหนุ่มสาวสังคมในยุคนั้น ก่อนจะกลับมายังฟาร์มคอตช์ฟอร์ดและจุดเริ่มต้นของพูห์

นักออกแบบงานสร้าง เดวิด โรเจอร์ ได้สร้างโลกที่ตรงข้ามกันระหว่างลอนดอนที่หรูหราเฉิดฉายกับบ้านชนบทในอีสต์ซัสเซ็กส์ที่มิลน์หลงรัก ชีวิตในชนบทของครอบครัวมิลน์เป็นภาพอังกฤษที่ถูกแต่งแต้มด้วยแสงอาทิตย์และดูเหมือนฝันในช่วงคั่นกลางระหว่างสงคราม ทั้งงดงาม ปลอดภัย และสุขสบาย ภาพชนบทในอุดมคตินี้กลายเป็นฉากให้การผจญภัยทั้งหมดของพูห์และคริสโตเฟอร์ โรบิน

“สิ่งที่มิลน์มอบให้ชาวอังกฤษในยุคนั้นก็คือภาพอดีตที่เขาโหยหา” โรเจอร์กล่าว “เขาฉายภาพวัยเด็กของตัวเองลงไปยังคริสโตเฟอร์ผ่านหนังสือและบทกวี เป็นชีวิตแบบอังกฤษที่น่ารักและคล้ายภาพจินตนาการที่ผู้คนโหยหากัน แต่สิ่งที่หายไปเสมอก็คือการปรากฏตัวของพ่อแม่”

ฟาร์มคอตช์ฟอร์ดยังคงอยู่ แต่สถาปัตยกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปทำให้ยากที่จะถ่ายทำที่นั่น หัวหน้าผู้จัดการฝ่ายสถานที่ คามิลลา สตีเฟนสัน สามารถหาสถานที่ใกล้เคียงกันที่ยังคงลักษณะตามแบบยุคก่อนเอาไว้ได้เป็นส่วนใหญ่ “แทบจะเป็นการทำสำเนาจากบ้านจริงมาเลย ยังคงมีครัวแบบยุค 1920 อยู่” โรเจอร์กล่าว “มันตั้งอยู่ตรงนั้นรอให้เรามาทำหนังเกี่ยวกับครอบครัวมิลน์ เราแทบไม่ต้องทำอะไรเลยครับนอกจากสร้างสวนขึ้นมา”

สวนอันเขียวชอุ่มของดาฟเนเป็นงานสร้างที่ละเอียดลออที่สุดงานหนึ่ง “มันเริ่มต้นจากการเป็นสวนเก่ารกร้าง” โรเจอร์กล่าว “แล้วดาฟเนก็ตัดสินใจว่าจะต้องทำให้มันเป็นสถานที่ที่สวยงามที่สุดในอังกฤษ เมื่อเรื่องราวในหนังดำเนินไป สวนนี้จะค่อยๆ กลายเป็นสวนที่สวยงามที่สุดเท่าที่คุณจะจินตนาการได้ มีทั้งมะลิ วิสเทอเรีย และกุหลาบบานสะพรั่ง”

หนึ่งในสถานที่จริงที่เราจะได้เห็นในหนังก็คือสะพานพูห์ของจริง ซึ่งมิลน์และคริสโตเฟอร์ โรบิน คิดเกมพูห์สติคส์กันขึ้นมา และป่าแอชดาวน์ พื้นที่ป่าติดกับบ้านคอตช์ฟอร์ดซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้ป่าร้อยเอเคอร์ในเรื่อง “เราคิดว่าจะสร้างสะพานพูห์ขึ้นมาเองเหมือนกันครับ” สตีเฟนสันกล่าว “เพราะการนำทีมงานเข้าไปและจัดแสงที่นั่นทั้งวันทั้งคืนเป็นงานที่ท้าทาย แต่สุดท้ายเราก็ทำได้”

ฉากในป่าถ่ายทำกันที่ป่าแอชดาวน์และสวนวินด์เซอร์เกรตพาร์ค “ที่ป่าจริงนั้นต้นไม้เก่าเสียหายไปมากจากพายุใหญ่ในยุคทศวรรษ 1980” สตีเฟนสันกล่าว “เราต้องการให้ทุกอย่างงดงามตามธรรมชาติและมีมนต์ขลังมากที่สุด ดังนั้นเราจึงใช้วินด์เซอร์พาร์คมาเสริมส่วนที่เราถ่ายทำจากแอชดาวน์”

สำหรับเคอร์ติส การได้อยู่ในป่าแอชดาวน์จริงๆ นั้นเป็นช่วงเวลาสำคัญของการถ่ายทำ “มีก้อนหินอยู่ที่นั่นพร้อมด้วยป้ายอุทิศให้มิลน์และเชพพาร์ดที่ได้นำเสนอความงดงามของป่าแอชดาวน์ให้โลกได้รับรู้” ผู้กำกับกล่าว “เราถ่ายทำฉากที่โดห์นัลล์กับสตีเฟนนั่งอยู่ที่หินก้อนนั้นตรงจุดที่พวกเขาทั้งสองเคยนั่งกันจริงๆ นับเป็นช่วงเวลาที่พิเศษมากเลยล่ะครับ”

โรเจอร์ประหลาดใจกับปริมาณและคุณภาพของภาพอ้างอิงที่เขาสามารถหาได้เพื่อนำมาใช้สร้างฉากสำคัญๆ ในหนังขึ้นมา “มีภาพถ่ายจำนวนมากและภาพข่าวบางส่วนด้วย” เขากล่าว “สภาเขตซัสเซ็กส์ค้นหาคลิป

ภาพข่าวจากงานฉลองที่จัดให้ตัวละครเหล่านี้ เราพบภาพถ่ายเด็กๆ แต่งตัวเหมือนของเล่น และมีคริสโตเฟอร์ โรบินยืนอยู่ตรงกลางด้วย”

ตรงกันข้าม บ้านในลอนดอนของครอบครัวมิลน์เป็นโลกที่เคร่งครัดเย็นชาซึ่งเด็กชายผู้เหงาหงอยอาศัยอยู่ในห้องใต้หลังคาที่ตกแต่งเพียงเล็กน้อย ด้วยการใช้ภาพถ่ายเก่า โรเจอร์ได้สร้างบ้านของครอบครัวมิลน์ที่เชลซีขึ้นมาที่นอร์นีย์เกรนจ์ในเซอร์เรย์ คฤหาสน์ตามแนวทางนิยมศิลปหัตถกรรม (arts and crafts movement) ซึ่งสร้างขึ้นในปี 1897 อีกทั้งได้สร้างฉากภายนอกเพื่อใช้แทนเขตเมือง “เราได้ประโยชน์จากการไปเยี่ยมชมบ้านที่เชลซี” เขาอธิบาย “เราเลยสามารถสร้างห้องที่ดูหงอยเหงานี้ตรงชั้นบนของบ้าน มีภาพถ่ายของห้องซึ่งคุณจะเห็นคริสโตเฟอร์นั่งเฉยอยู่ในมุมมืดเล็กๆ”

ด้วยการตกแต่งอย่างทันสมัยโดยดาฟเน พื้นที่ใช้งานรวมภายในบ้านจึงมีความหรูหราตามสไตล์อาร์ตเดโค “มีร่องรอยความเป็นฮอลลีวู้ดให้เห็นอยู่บ้าง” โรเจอร์กล่าว “จึงเป็นเรื่องเข้าใจได้ว่าเธอคงอึดอัดใจเมื่อต้องย้ายครอบครัวไปยังบ้านไร่เก่าๆ ที่มีกลิ่นเหม็นอับ”

สถานที่ในชีวิตจริงอีกแห่งหนึ่งที่ปรากฏในหนังก็คือบ้านชนบทสไตล์กอธิก เนบเวิร์ธ เฮาส์, โรงละครซาวอยแบบวิกตอเรียนอันหรูหรา และสวนสัตว์ลอนดอน ซึ่งคริสโตเฟอร์ โรบิน เคยป้อนน้ำผึ้งให้หมีดำในกรงจริงๆ ทีมผู้สร้างหนังใช้กรงดั้งเดิมที่ปัจจุบันไม่ใช่งานแล้ว…อาจเพราะมีเหตุผลที่ดี

“หมีทุกชนิด ทั้งหมีขาว หมีน้ำตาล หมีดำ ถูกเลี้ยงไว้รวมกันที่นั่น” โรเจอร์กล่าว ล้อมรอบด้วยคูน้ำซึ่งพวกมันจะตกลงไปถ้าพยายามเข้าไปใกล้คนที่อยู่ภายนอก น่ากลัวมากครับที่คริสโตเฟอร์ โรบินเข้าไปในนั้น”

การแต่งกายและการแต่งหน้าได้รับการดูแลรายละเอียดอย่างพิถีพิถัน “ฉันไม่แน่ใจว่าคนรู้กันหรือเปล่าว่าทีมงานต้องใช้เวลามากแค่ไหนสำหรับหนังแนวนี้” ร็อบบีกล่าว “เครื่องแต่งกายมาจากยุคนั้นหรือไม่ก็จำลองมาจากยุคนั้น ทีมงานต้องคำนึงถึงรายละเอียดทุกอย่างเลยค่ะ”

นักออกแบบเครื่องแต่งกาย โอดิล ดิคส์-มิโรซ์ ใช้ภาพถ่ายเก่าและเสื้อผ้าจากพิพิธภัณฑ์มาช่วยในการสร้างสรรค์เครื่องแต่งกาย สำหรับดาฟเน มิลน์ ผู้หญิงซึ่งได้รับคำบรรยายว่าไม่ใช่คนสวยแต่แต่งตัวได้สวยเสมอ เธอได้จัดชุดเสื้อผ้าหรูหราที่ได้แรงบันดาลใจจากช่างภาพแนวเซอร์เรียลลิสต์และนางแบบ ลี มิลเลอร์ “ดาฟเนมีชื่อเสียง

เรื่องรสนิยมอันดีงามและหมวกที่ดูพิเศษไม่เหมือนใคร” มิโรซ์กล่าว “เธอนำสีสันมากมายมาสู่ชีวิตของอลันและคริสโตเฟอร์ โรบิน รูปลักษณ์ของเธอดูมีระดับกว่าสาวสังคมยุค 1920 ทั่วๆ ไป ฉันให้เธอใส่ชุดลูกปัดในฉากนิวยอร์กเพราะดูเป็นช่วงเวลาเหมาะที่เธอจะก้าวขึ้นไปยังระดับนั้น”

นักออกแบบทำงานร่วมกับร็อบบีอย่างใกล้ชิดเพื่อหาเครื่องแต่งกายที่ช่วยเน้นความงามแบบร่วมสมัยของเธอ แต่ก็ยังคงตรงตามยุคสมัยและตัวละครที่เธอเล่น ดาฟเนตัวจริงนั้นมีรูปลักษณ์ที่น่าตื่นตาตามความเห็นของนักแสดงรายนี้ “เธอหลงใหลเสื้อผ้า เครื่องประดับ การทำสวน และการตกแต่งบ้าน เธอใช้ความสร้างสรรค์ไปกับเรื่องเหล่านั้นค่ะ”

เครื่องแต่งกายทั้งหมดของคริสโตเฟอร์ โรบินและพ่อของเขาต้องทำขึ้นมาใหม่ทั้งหมด มิโรซ์กลับไปศึกษาภาพประกอบของเชพพาร์ด รวมถึงภาพถ่ายครอบครัว และค้นพบว่าคริสโตเฟอร์ โรบิน ใส่เสื้อตัวหลวมแบบยุคก่อนกับกางเกงขาสั้น และตัดผมทรงกะลาครอบเหมือนตัวละครในหนังสือ “เราทำเสื้อผ้าแบบนั้น รวมถึงเสื้อถักไหมพรม และกางเกงชั้นในของเขาด้วย เราถักถุงเท้าให้เขา แม้กระทั่งรองเท้าก็ทำขึ้นมาโดยเฉพาะ”

เครื่องแบบของโอลีฟเป็นไปตามภาพถ่ายในยุคนั้น แม้กระทั่งในส่วนของผ้าคลุม เป็นผ้าที่คลุมศีรษะ ลำคอ และด้านข้างของใบหน้าซึ่งเธอจะต้องใส่เมื่ออยู่ในเมือง “เธอทำงานให้ครอบครัวที่มีหน้ามีตา ดังนั้นเธอต้องพบปะผู้คนมากมาย” แม็คโดนัลด์กล่าว “เธอต้องดูดีเพื่อเป็นหน้าเป็นตาให้พวกเขาด้วย เสื้อผ้าต้องลงแป้งทั้งในส่วนคอปกและข้อมือเสื้อ ผ้าคลุมนั้นทำให้เธอดูคล้ายแม่ชีอยู่บ้างเหมือนกัน”

มรดกจากมิลน์

บอยซ์เริ่มต้นศึกษาข้อมูลจากหนังสือชีวประวัติของมิลน์ที่เขียนโดยแอนน์ ธเวต ที่มีชื่อว่า A.A. Milne: His Life และหนังสือสองเล่มของคริสโตเฟอร์ โรบิน มิลน์ เรื่อง The Enchanted Places และ The Path Through the Trees นอกจากนี้ เอ เอ มิลน์ ซึ่งเป็นนักเขียนความเรียงที่มีชื่อเสียงก็ได้ทิ้งมรดกทางวรรณกรรมอันเป็นช่องทางให้บอยซ์ได้ก้าวเข้าสู่โลกของเขา “หนังสือของแอนน์นั้นยอดเยี่ยมมาก” เขากล่าว “มันช่วยให้ผมได้สัมผัสโลกของมิลน์

ส่วน The Enchanted Places ก็เจาะจงพูดถึงเหตุการณ์ช่วงนี้ในชีวิตของทั้งสอง และผมก็หันมาสนใจเรื่องที่ว่าโอลีฟ พี่เลี้ยงของคริสโตเฟอร์ จะต้องสำคัญต่อเขามากเพราะเขาอุทิศหนังสือเล่มนี้ให้เธอ”

นับเป็นเวลา 91 ปีตั้งแต่ Winnie-the-Pooh ได้รับการตีพิมพ์เป็นครั้งแรก หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลเป็นภาษาต่างๆ หลายสิบภาษา รวมถึงภาษาละตินด้วย และของเล่นต้นฉบับดั้งเดิมนั้นก็ได้จัดแสดงอยู่ที่ห้องสมุด New York Public Library ตั้งแต่ปี 1987

ทีมผู้สร้างรู้ดีว่ามรดกอันยิ่งใหญ่ของมิลน์ได้วางมาตรฐานที่สูงไว้ให้กับ GOODBYE CHRISTOPHER ROBIN ทีมผู้อำนวยการสร้างจึงหวังว่าหนังเรื่องนี้จะออกมาสมความคาดหวังของคนรักหมีพูห์ทั่วโลก และอาจได้ช่วยให้เห็นอีกด้านหนึ่งที่น่าประหลาดใจและน่าประทับใจของผู้ชายและเด็กซึ่งอยู่เบื้องหลังหนังสืออันเป็นที่รักนี้

“ไม่ใช่แค่เด็กในยุคปัจจุบันเท่านั้น” คริสเตียนกล่าว “แต่เป็นทุกคนที่เติบโตมากับหนังสือเหล่านี้ ทุกคนต่างรู้สึกว่าร่วมเป็นเจ้าของวินนี-เดอะ-พูห์ด้วย เวลาที่คุณเข้าไปสำรวจชีวิตจริงของศิลปิน คุณแน่ใจได้เลยว่าในหมู่ผู้ชมและนักวิจารณ์จะต้องมีคนที่รู้มากกว่าคุณ ดังนั้นคุณจึงต้องซื่อสัตย์ต่อเรื่องราวและเราก็พยายามเต็มที่เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้”