FOX SEARCHLIGHT PICTURES และ FILM4

ขอเสนอ

ผลงานการสร้างของ BLUEPRINT PICTURES

ผลงานการกำกับของ มาร์ติน แม็คดอนนา

ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์

วู้ดดี ฮาร์เรลสัน

แซม ร็อคเวลล์

แอบบี คอร์นิช

ลูคัส เฮดเจส

เชลโค อิวาเนค

คาเลบ แลนดรี โจนส์

คลาร์ก ปีเตอร์ส

ซามารา วีฟวิง

ร่วมด้วย จอห์น ฮอว์คส์

และ ปีเตอร์ ดิงค์เลจ

เขียนบทและกำกับโดย …………………………… ……………………มาร์ติน แม็คดอนนา

อำนวยการสร้างโดย …………………………… ……………………เกรแฮม บรอดเบนต์

…………………………… ……………………พีท เชอร์นิน

…………………………… ……………………มาร์ติน แม็คดอนนา

ผู้อำนวยการสร้างบริหาร …………………………… ……………………เบอร์เจน สวอนสัน

…………………………… ……………………เดียร์มุด มิคโยน

…………………………… ……………………โรส การ์เน็ตต์

…………………………… ……………………เดวิด คอส

…………………………… ……………………เดเนียล แบตต์เซค

ผู้กำกับภาพ …………………………… ……………………เบน เดวิส, BSC

ผู้ออกแบบงานสร้าง …………………………… ……………………อินบัล ไวน์เบิร์ก

ผู้ตัดต่อ …………………………… …………………….จอน เกรกอรี, ACE

ผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย …………………………… ……………………เมลิสซา ท็อธ

ดนตรีโดย …………………………… ……………………คาร์เตอร์ เบอร์เวลล์

ผู้ร่วมอำนวยการสร้าง …………………………… ……………………เบน ไนท์

คัดเลือกนักแสดงโดย …………………………… ……………………ซาราห์ แฮลลีย์ ฟินน์, CSA www.foxsearchlight.com/press

เรต PG-13 ความยาว 121 นาที

งานประชาสัมพันธ์:

Los Angeles New York Regional

Lauren Gladney Steve Moreau Isabelle Sugimoto

Tel: 310.369.5918 Tel: 212.556.8246 Tel: 310.369.2078

lauren.gladney@fox.com sarah.peters@fox.com isabelle.sugimoto@fox.com

THREE BILLBOARDS OUTSIDE EBBING, MISSOURI เป็นภาพยนตร์ดรามาตลกร้ายจากผู้ชนะรางวัลออสการ์ มาร์ติน แม็คดอนนา (IN BRUGES) เมื่อเวลาผ่านไปนานหลายเดือนแต่คดีฆาตกรรมลูกสาวยังหาตัวผู้กระทำผิดไม่ได้ มิลเดรด เฮย์ส (ผู้ชนะรางวัลออสการ์ ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์) ผู้เป็นแม่จึงตัดสินใจซื้อป้ายโฆษณาสามป้ายตรงทางเข้าเมืองเพื่อส่งสารท้าทายไปยังวิลเลียม วิลลาบี (ผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ วู้ดดี ฮาร์เรลสัน) หัวหน้าตำรวจซึ่งเป็นที่เคารพยกย่องประจำเมือง เมื่อรองหัวหน้าตำรวจ เจ้าหน้าที่ดิ๊กสัน (แซม ร็อคเวลล์) ลูกแหง่ติดแม่ผู้นิยมใช้ความรุนแรงเข้ามาเกี่ยวข้อง การต่อสู้ระหว่างมิลเดรดกับผู้บังคับใช้กฎหมายในเมืองเอ็บบิงก็มีแต่จะหนักหนาสาหัสยิ่งขึ้น

Fox Searchlight Pictures และ Film4 ขอเสนอผลงานการสร้างของ Blueprint Pictures ภาพยนตร์โดยมาร์ติน แม็คดอนนา เขียนบทและกำกับโดยมาร์ติน แม็คดอนนา นำแสดงโดย ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์, วู้ดดี ฮาร์เรลสัน, แซม ร็อคเวลล์, แอบบี คอร์นิช, ลูคัส เฮดเจส, เชลโค อิวาเนค, คาเลบ แลนดรี โจนส์, คลาร์ก ปีเตอร์ส, ซามารา วีฟวิง ร่วมด้วยจอห์น ฮอว์คส์ และปีเตอร์ ดิงค์เลจ ผู้อำนวยการสร้าง ได้แก่ เกรแฮม บรอดเบนต์, พีท เชอร์นิน และมาร์ติน แม็คดอนนา ร่วมด้วยผู้อำนวยการสร้างบริหาร เบอร์เจน สวอนสัน, เดียร์มุด มิคโยน, โรส การ์เน็ตต์, เดวิด คอส และเดเนียล แบตต์เซค และผู้ร่วมอำนวยการสร้าง เบน ไนท์

ทีมงานเบื้องหลัง ได้แก่ ผู้กำกับภาพ เบน เดวิส, BSC, ผู้ออกแบบงานสร้าง อินบัล ไวน์เบิร์ก, ผู้ตัดต่อ จอน เกรกอรี, ACE, นักออกแบบเครื่องแต่งกาย เมลิสซา ท็อธ, ดนตรีโดยคาร์เตอร์ เบอร์เวลล์ และคัดเลือกนักแสดงโดยซาราห์ แฮลลีย์ ฟินน์, CSA

THREE BILLBOARDS

Outside Ebbing, Missouri

“กฎหมายบอกไว้ว่ายังไงว่าเราพูดอะไรได้หรือไม่ได้บนป้ายโฆษณา”

~ มิลเดรด เฮยส์

ฐานที่มั่นสุดท้ายมาถึงจุดระเบิดในการเดินทางของมาร์ติน แม็คดอนนาสู่เมืองเล็กในอเมริกากับภาพยนตร์เรื่อง THREE BILLBOARDS OUTSIDE EBBING, MISSOURI เมื่อแม่คนหนึ่งจำเป็นต้องทำเรื่องเหนือความคาดหมายเพราะคดีฆาตกรรมลูกสาวไม่ได้รับการคลี่คลาย ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นผลงานเรื่องที่สามจากมาร์ติน แม็คดอนนา ผู้เขียนบทละคร ผู้เขียนบทภาพยนตร์ และผู้กำกับชาวไอริชซึ่งเป็นที่รู้จักจากภาพยนตร์เขย่าขวัญเรื่องดัง IN BRUGES ที่ได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์และชนะรางวัล BAFTA ในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รวมถึงหนังตลกอาชญากรรมเรื่อง SEVEN PSYCHOPATHS

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มต้นขึ้นจากมิลเดรด เฮย์ส และการที่เธอเช่าป้ายโฆษณาสามป้ายบนถนนดริงค์วอเตอร์ “ผมตัดสินใจให้คนซื้อป้ายโฆษณาเป็นคุณแม่ผู้โศกเศร้า แล้วนับจากนั้นเหตุการณ์ต่างๆ ก็แทบจะเขียนขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติครับ”

แม็คดอนนาเล่า “มิลเดรดเป็นคนเข้มแข็ง เด็ดเดี่ยว และกราดเกรี้ยว แต่ก็เจ็บปวดบอบช้ำอยู่ภายใน นั่นคือจุดเริ่มต้นของเรื่องราว”

เรื่องราวนี้ได้เปิดโอกาสให้นักแสดงรางวัลออสการ์ ฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ มาถ่ายทอดบทฮีโร่หนังคาวบอยแบบคลาสสิกในร่างของผู้หญิงสมัยใหม่ผ่านการแสดงในสไตล์ขาลุย

“ในแง่รูปลักษณ์ภายนอก ฉันต้องพึ่งจอห์น เวย์นอยู่มากทีเดียว เพราะไม่มีผู้หญิงที่เป็นแบบอย่างให้บทมิลเดรด” เธออธิบาย “เธอเป็นเหมือนชายลึกลับตามแบบฉบับในหนังคาวบอย คนที่เดินมากลางถนน ชักปืน แล้วยิงทุกคน ถึงแม้ว่าสิ่งสำคัญคืออาวุธเดียวที่มิลเดรดใช้ก็คือสติปัญญาของเธอ”

“ผมเห็นตัวละครนี้อยู่ในท่าเดินและลักษณะท่าทางของเธอ” แม็คดอนนากล่าว “ผมคิดว่าจอห์น เวห์นเป็นหมุดหมายให้ฟรานเซสยึดได้ในระดับหนึ่ง แต่ผมก็เห็นแบรนโดและมอนต์โกเมอรี คลิฟต์อยู่ในตัวละครนี้ด้วย”

การสร้างตัวละครมิลเดรดขึ้นมานับเป็นครั้งแรกที่แม็คดอนนาเขียนตัวละครนำหญิงในบทภาพยนตร์ แต่เธอก็อาจเป็นตัวละครที่เด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นที่สุดเท่าที่เขาเคยเขียนมา แม่ผู้โศกเศร้าแต่ไม่เสียใจในสิ่งที่ทำไปได้ออกมาทดสอบเนื้อแท้ของผู้คนในเมืองของเธอ ทีมนักแสดงผู้ร่วมงานกับแม็คดอนนาและแม็คดอร์มานด์ในหนังเรื่องนี้ ได้แก่ นักแสดงชั้นนำอย่าง วู้ดดี ฮาร์เรลสัน, แซม ร็อคเวลล์, แอ็บบี คอร์นิช, จอห์น ฮอว์คส์, ลูคัส เฮดเจส และปีเตอร์ ดิงค์เลจ

บทภาพยนตร์

“ฉันว่าตำรวจท้องถิ่นมัวแต่รังแกคนดำจนไม่สนใจมาทำคดีจริง ก็เลยคิดว่าป้ายโฆษณาพวกนี้น่าจะช่วยเรียกสติให้พวกตำรวจได้บ้าง”

~ มิลเดรด เฮยส์

THREE BILLBOARDS OUTSIDE EBBING, MISSOURI มีแก่นเรื่องอยู่ที่ปมขัดแย้งระหว่างมิลเดรดกับหัวหน้าตำรวจเมืองเอ็บบิง “เรื่องนี้เป็นสงครามระหว่างคนสองคนซึ่งต่างคนต่างก็มีส่วนถูก” แม็คดอนนากล่าว “จุดนี้เองที่สร้างความตึงเครียดและเรื่องราวดรามาขึ้นมา”

ความตึงเครียดดังกล่าวนำไปสู่การสำรวจว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อความโกรธแค้นไม่อาจสงบลงได้ ขณะที่ความตึงเครียดพุ่งสูงขึ้น หนังเรื่องนี้ก็ขุดลึกลงไปในแนวคิดว่าด้วยการแบ่งแยก ความโกรธ และการลงทัณฑ์ทางศีลธรรม

แม็คดอนนาตั้งคำถามว่า “คุณจะไปไหนเมื่ออยู่ท่ามกลางความสูญเสียและความโกรธที่ไม่มีทางออก คุณจะทำอะไรไม่ว่าในเชิงสร้างสรรค์หรือทำลาย เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นและทำบางสิ่งให้สำเร็จ มันเป็นแนวคิดที่น่าสำรวจว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อสถานการณ์ดูไร้ความหวังแต่คุณตัดสินใจว่าจะลงมือเคลื่อนไหวจนกว่าความหวังจะมาถึง ผมคิดว่านั่นเป็นเหตุผลให้หนังเรื่องนี้แตกต่างไปจากหนังอาชญากรรมส่วนใหญ่ นั่นคือมีคำถามค้างคาอยู่ตลอดเวลาว่า ‘แล้วถ้าเกิดคดีนี้ไม่มีคำตอบล่ะ’”

ความท้าทายสำคัญที่สุดสำหรับแม็คดอนนาน่าจะเป็นการวางสมดุลระหว่างเรื่องราวตลกร้ายกับภารกิจของมิลเดรดที่ขับเคลื่อนด้วยอารมณ์ เขาเชื่อมั่นว่าอารมณ์ขันจะต้องปรากฏในเรื่อง เป็นอารมณ์ขันแบบตลกร้ายและจิกกัด แม้ในขณะที่เขาปล่อยให้ตัวละครรู้สึกปั่นป่วนด้วยความเจ็บปวดจากการสูญเสีย ความอยุติธรรม และการไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลง

“สิ่งที่เกิดขึ้นกับลูกสาวของมิลเดรดนั้นน่าเศร้าและเลวร้าย ผมมองว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการคุมโทนความตลก แม้ว่าจะเป็นตลกร้าย และต้องแน่ใจว่าการต่อสู้ของมิลเดรดกับความสิ้นหวังของสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อเนื่องไปได้ในแง่โทนเรื่อง” แม็คดอนนากล่าว

แนวทางอันโดดเด่นของแม็คดอนนาในการวางโทนหลายโทนทับซ้อนกันเป็นสิ่งที่นักแสดงให้ความสนใจ นักแสดงลูคัส เฮดเจส ตั้งข้อสังเกตว่า “บทสนทนาของมาร์ตินทั้งน่ามหัศจรรย์และสมจริงในเวลาเดียวกัน ซึ่งเป็นเหมือนฝันสำหรับนักแสดงครับ เขาเขียนบทที่สื่ออารมณ์อย่างจริงใจและหลายครั้งก็แทบจะเป็นเชกสเปียร์ในแง่ความทรงภูมิปัญญา” แอบบี คอร์นิชเสริม “งานของมาร์ตินมีความดิบเถื่อนอยู่ในนั้น ไม่ใช่การสร้างภาพลวงตาเพ้อฝันแต่เป็นตรงกันข้าม มันคือความจริง”

แม็คดอนนากล่าวว่าเรื่องราวในหนังน่าเศร้าที่สุดเท่าที่เขาเคยเขียนมาแต่ก็เป็นการค้นหาความหวังด้วย “จุดเริ่มต้นค่อนข้างน่าเศร้า แต่ก็มีความตลกแฝงอยู่มากและผมหวังว่าจะมีจุดที่ซาบซึ้งน่าประทับใจอยู่หลายจุดด้วย” เขาให้ความเห็น “ผมว่าผมก็มองโลกอย่างนั้นครับ ผมเห็นความเศร้าในบางแง่ แต่ผมมักจะพยายามปลอบประโลมความรู้สึกนั้นด้วยด้านสว่าง ด้วยอารมณ์ขัน ไม่ว่าจะเป็นอารมณ์ขันที่หม่นมืดแค่ไหนก็ตาม และด้วยการต่อสู้กับความสิ้นหวัง”

สำหรับผู้อำนวยการสร้าง เกรแฮม บรอดเบนต์ ผู้ร่วมงานกับแม็คดอนนาใน IN BRUGES และ SEVEN PSYCHOPATHS รวมถึงอำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้ร่วมกับแม็คดอนนาและพีท เชอร์นิน ผลลัพธ์ก็คือหนังที่ “คาบเกี่ยวระหว่างความตลกและความเศร้า รวมถึงเล่าเรื่องได้อย่างฉลาดล้ำ”

บรอดเบนต์ระบุว่าสัญชาตญาณของแม็คดอนนาช่วยให้เขารักษาสมดุลเอาไว้ได้ “ผมคิดว่ามันมาจากช่วงที่เขาทำงานละครเวที” ผู้อำนวยการสร้างรายนี้กล่าว “ในกองถ่าย ดูเหมือนว่าความคิดเขาก้าวกระโดดไปล่วงหน้าแล้วว่าคนดูจะตอบสนองอย่างไร ในงานของมาร์ติน เรารู้ว่าคำพูดที่เขาเขียนและการแสดงที่เขาได้มานั้นจะส่งตรงไปถึงผู้ชม”

มิลเดรด

“หึ ถ้าอย่างนั้นก็แค่ว่าระหว่างเขากับฉันใครพูดจริงสินะ

ก็เหมือนอย่างที่เราเคยได้ยินกันในคดีข่มขืน เพียงแต่ว่าคราวนี้ฝ่ายผู้หญิงไม่แพ้”

~ มิลเดรด เฮย์ส

นักแสดงที่มารับบทเป็นมิลเดรด เฮย์ส ผู้ขับเคลื่อนเหตุการณ์ใน THREE BILLBOARDS OUTSIDE EBBING, MISSOURI ก็คือฟรานเซส แม็คดอร์มานด์ แม็คดอร์มานด์เล่นหนังเรื่องแรกในหนังนัวร์คลาสสิกของพี่น้องโคเอน เรื่อง BLOOD SIMPLE จากนั้นก็มีผลงานการแสดงออกมามากมายซึ่งทำให้เธอได้รับรางวัลใหญ่ทั้งสามรางวัล ได้แก่ รางวัลโทนี รางวัลเอ็มมี และรางวัลออสการ์

“ผมเขียนบทมิลเดรดให้ฟรานเซส” แม็คดอนนากล่าว “ไม่มีนักแสดงหญิงรายไหนที่มีองค์ประกอบครบทั้งหมดสำหรับบทมิลเดรด เธอจะต้องดูกลมกลืนกับการเป็นชนชั้นแรงงานและเป็นคนชนบทด้วย แล้วก็ต้องไม่ทำให้ตัวละครนี้ดูอ่อนไหวเกินไป ผลงานทั้งหมดของฟรานเซสนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริง ผมรู้ว่าเธอสามารถถ่ายทอดความหม่นมืดในตัวมิลเดรด ขณะเดียวกันก็ถ่ายทอดอารมณ์ขันได้อย่างลื่นไหล โดยยังคงรักษาตัวตนของมิลเดรดเอาไว้โดยตลอด”

เพื่อมารับบทนี้ แม็คดอร์มานด์ได้สำรวจแนวทางที่สงวนไว้ให้นักแสดงชายมายาวนาน นั่นก็คือบทวีรบุรุษผู้โดดเดี่ยวที่ยืนหยัดท้าทายคนทั้งเมือง

“เราไม่พูดถึงนักแสดงหญิงคนอื่นเลย” เกรแฮม บรอดเบรนต์ ระบุ “ฟรานเซสได้รับบทเมื่อมาร์ตินพร้อมจะส่งไปให้ดู เธอตอบตกลงแล้วก็แค่นั้นเลย มาร์ตินเขียนตัวละครที่เฉพาะเจาะจงในบทมิลเดรด แล้วฟรานเซสก็เข้ามารับบทเป็นเธอได้อย่างมีเอกลักษณ์ น้อยคนนักที่จะนำเสนออารมณ์ได้ครบถ้วนทั้งความสะเทือนใจและอารมณ์ขัน มิลเดรดอาจหัวแข็งเป็นบางครั้ง แต่ฟรานเซสก็แสดงให้เห็นความเป็นมนุษย์ในตัวเธอ ดังนั้นเมื่อผ่านช่วงขำขันไปไม่กี่ช่วง คนดูก็เริ่มไปอยู่ข้างเธอ”

แม็คดอร์มานด์ได้พบแม็คดอนนาเมื่อ 15 ปีก่อนหลังจากเธอแสดงในบทละครที่ชนะรางวัลของเขาเรื่อง “The Pillowman” และหลังจากคุยกันสั้นๆ เรื่องที่เขาจะก้าวเข้าสู่แวดวงภาพยนตร์ เธอก็เสนอให้เขาเขียนบทบาทในหนังให้เธอ “ทันทีที่ฉันพูดคำนั้นออกจากปาก ฉันก็อยากเรียกถ้อยคำเหล่านั้นกลับมาเพราะคุณไม่ควรทำอย่างนั้น แต่อีก 15 ปีต่อมาเขาก็ส่งบทมาให้” เธอกล่าว “ฉันอ่านบท ฉันรักบทนี้ และฉันแทบไม่อยากเชื่อในความโชคดีของตัวเองที่ได้มารับบทมิลเดรด”

“สิ่งหนึ่งที่ฉันคิดว่ามาร์ตินถนัดมากก็คือแนวคิดว่าด้วยการดำรงอยู่ของมนุษย์ซึ่งแทบจะเป็นแนวคิดแบบกรีก มีแนวคิดที่ยิ่งใหญ่และสำคัญมากมายที่เขาสำรวจในเรื่องนี้” แม็คดอร์มานด์กล่าว “จากนั้นด้วยการให้ตัวเอกของเรื่องเป็นผู้หญิงแทนที่จะเป็นผู้ชาย เขาก็ได้นำเรื่องนี้ไปสู่อาณาเขตของโศกนาฏกรรมอันยิ่งใหญ่ เขายังหยิบขนบของหนังแก้แค้นแบบสมัยใหม่มาเล่นด้วย แต่มันไม่ใช่หนังเกี่ยวกับการแก้แค้นของผู้หญิง การค้นหาว่าตัวละครหญิงแสวงหาความยุติธรรมอย่างไรช่วยให้หนังเรื่องนี้ก้าวข้ามเรื่องเพศไปพูดถึงสภาวะการดำรงอยู่ของมนุษย์”

บทสนทนาที่ยิ่งใหญ่จริงจังของแม็คดอนนาประสานเข้ากันกับสัญชาตญาณในการเล่นละครเวทีของแม็คดอร์มานด์ เธอเรียกสไตล์ของแม็คดอนนาว่าเป็น “สัจนิยมมหัศจรรย์รูปแบบหนึ่ง ซึ่งในที่นี้ผสมผสานกับกลิ่นอายแบบกอธิกอเมริกานา โดยตั้งอยู่บนแนวคิดที่ว่าผู้คนในเมืองเล็กๆ ไม่ได้จืดชืดน่าเบื่อแต่มีความเป็นกวี”

“มาร์ตินกับฉันจะไม่หลบซ่อนความจริงซึ่งกันและกัน ฉันพูดทุกอย่างต่อหน้าเขาได้” เธอกล่าว “การสนทนาถกเถียงกันระหว่างเราเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการทำหนัง ไม่มีฉากไหนที่เราถ่ายทำกันโดยที่ฉันไม่ได้ตั้งคำถามถึงบทพูดบางประโยคหรือแรงจูงใจของตัวละคร เราถกเถียงกันหนักเป็นพิเศษว่ามิลเดรดควรโพกผ้าคาดหัวตอนไหน สำหรับฉันการโพกผ้าเป็นสัญลักษณ์ของการที่เธอจะลงมือทำ และฉันอยากโพกผ้านั้นบ่อยกว่าที่เขาต้องการ”

นอกจากเล็งเห็นลักษณะของโศกนาฏกรรมกรีกและสัจนิยมมหัศจรรย์ในงานของแม็คดอนนาแล้ว แม็คดอร์มานด์ยังมองว่า THREE BILLBOARDS เป็นภาพมุมกลับของหนังคาวบอยด้วย เธอสร้างมิลเดรดขึ้นมาจากตัวละครต้นแบบในหนังที่ถูก

ยึดครองโดยผู้ชาย ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเธอพบว่ามีผู้หญิงเพียงไม่กี่คนที่รับบทบาทเช่นนั้น “ถ้ามองย้อนกลับไป ฉันนึกถึงแพม เกรียร์ในยุค 70 ด้วย แต่ก็ยังไม่ใช่อยู่ดีเพราะมิลเดรดไม่ได้ใช้เสน่ห์ความเป็นหญิงอย่างที่แพมใช้” เธออธิบาย

แต่ถึงอย่างไรมิลเดรดก็ไม่ใช่นักดวลปืน เธอเป็นแม่ที่หาความยุติธรรมให้ลูกสาว “เมื่อเป็นแม่ คุณเหมือนยืนอยู่บนปากเหวสู่หายนะ เป็นอย่างนั้นจริงๆ” เธอบรรยาย “ฉันไม่ได้เป็นคนให้กำเนิดลูกชายฉัน ฉันพบเขาตอนอายุ 6 เดือน แต่ทันทีที่ฉันได้อุ้มเขาและได้กลิ่นเขา ฉันรู้ว่าเป็นหน้าที่ของฉันที่จะต้องช่วยให้เขามีชีวิตต่อไป และเมื่อเป็นพ่อแม่ คุณก็จะได้ตระหนักว่าความห่วงใยและความกังวลจากการปกป้องคนที่คุณอุทิศตัวและยอมทุ่มเทกายใจให้นั้น อาจส่งผลบ่อนทำลายตัวคุณเองได้”

แม็คดอร์มานด์ให้ความโศกเศร้าของมิลเดรดเป็นแก่นในการแสดงของเธอ “มิลเดรดไม่ได้เป็นฮีโร่” แม็คดอร์มานด์ชี้ “เธอซับซ้อนกว่านั้นมาก เธอถูกความโศกเศร้านำไปทิ้งไว้ในที่รกร้าง ในจุดที่ถอยหลังไม่ได้ สิ่งหนึ่งที่ฉันติดค้างในใจฉันอยู่เสมอเวลานึกถึงมิลเดรดก็คือในภาษาส่วนใหญ่ไม่มีคำที่จะใช้อธิบายสถานะของเธอ ถ้าคุณเสียสามีไป คุณก็เป็นแม่ม่าย ถ้าคุณเสียพ่อแม่ไป คุณก็จะกลายเป็นลูกกำพร้า แต่ไม่มีคำสำหรับพ่อแม่ที่สูญเสียลูกไป เพราะมันเป็นสถานการณ์ที่ไม่ควรเกิดขึ้นตามหลักชีววิทยา มันอยู่นอกเหนือขอบเขตของภาษา และนั่นคือจุดที่มิลเดรดถูกทิ้งเอาไว้ ดังนั้นเธอจึงยอมทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่าง”

แม็คดอรมานด์พูดชัดเจนอยู่เรื่องหนึ่ง “โจเอล [โคเอน สามีของเธอ] พูดกับฉันว่า ‘คนเราไม่กลายมาเป็นคนแข็งกร้าวทีหลังหรอก มิลเดรดเป็นคนแข็งกร้าวอยู่แล้ว’ เมื่อตกอยู่ภายใต้สถานการณ์นี้ เธอก็เริ่มกลายมาเป็นขาลุยอย่างเต็มตัว แต่เธอมีคุณสมบัตินั้นอยู่ในตัวมาตลอด ซึ่งฉันคิดว่าช่วยอธิบายถึงสถานการณ์ในครอบครัวกับชาร์ลี สามีของเธอด้วย”

อีกสิ่งที่ตามหลอกหลอนมิลเดรดก็คือคำพูดแบบไม่ยั้งคิดที่เธอพูดกับลูก คำพูดแช่งลูกสาวในวันเดียวกับที่ลูกถูกฆาตกรรม “คุณจะทนอยู่กับตัวเองได้ยังไง” แม็คดอร์มานด์ถาม “คุณทนไม่ได้หรอกและเห็นได้ชัดว่าเธอก็ทนไม่ได้”

สำหรับแม็คดอร์มานด์ ณ จุดนี้มิลเดรดไม่มีน้ำตาให้ร้องไห้แล้ว ซึ่งก็เป็นเหตุผลให้เธอไร้ความปราณีต่อใครก็ตามที่เข้ามาขวางทาง “ฉันเชื่อว่านั่นเป็นสาเหตุให้เธอทำแบบนั้น เพราะเธอไม่สามารถพบความอ่อนแอในตัวเองได้ เธอไม่สามารถเข้าถึงอารมณ์เหล่านั้น สำหรับเธอ การโยนระเบิดขวดง่ายกว่าการร้องไห้มาก” เธอตั้งข้อสังเกต “ภาพของมิลเดรดที่ฉันมีอยู่ในหัวก็คือเด็กชายชาวดัตช์ที่เอานิ้วอุดรูเขื่อนไว้ ถ้ามิลเดรดดึงนิ้วออกและปลดปล่อยความรู้สึกทั้งหมดออกมา เธอก็จะขยับเขยื้อนไม่ได้ เพราะฉะนั้นเธอจึงปล่อยให้นิ้วอยู่ตรงนั้น”

“สำหรับมิลเดรด ฉันคิดว่าคุณไม่เข้าใจพฤติกรรมของเธอเสมอไป แต่คุณจะไม่เกลียดเธอ คุณจะไม่พูดจาว่าร้ายเธอ” แม็คดอร์มานด์ตั้งข้อสังเกต

วู้ดดี ฮาร์เรลสัน ผู้รับบทเป็นหัวหน้าวิลลาบี เป้าหมายในการโจมตีของมิลเดรด ตั้งข้อสังเกตว่าสิ่งหนึ่งที่ทำให้แม็คดอร์มานด์แตกต่างออกมาก็คือการเตรียมตัวรับบทอย่างละเอียดถี่ถ้วน “ฟรานเซสทำงานอย่างพากเพียรเพื่อทำความเข้าใจมิลเดรด โดยเจาะลึกไปถึงเรื่องราวความเป็นมาของครอบครัวเธอและลูกสาวที่เราไม่มีโอกาสได้รู้จักเพราะเธอตายไปแล้วในตอนเริ่มเรื่อง” เขากล่าว “ในการเป็นนักแสดง เธอทำงานเหมือนนักสืบเอกชน เธอเข้ามาหาข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับตัวละคร และการแสดงของเธอก็เผยความเข้าใจนั้นออกมา ฟรานเซสยังมีอารมณ์ขันที่ร้ายกาจด้วย ดังนั้นเธอจึงสามารถนำสิ่งที่ตลกอยู่แล้วบนหน้ากระดาษมาทำให้ตลกยิ่งขึ้นไปอีก”

ร็อคเวลล์กล่าวถึงแม็คดอร์มานด์ว่า “ฟรานเซสเป็นนักแสดงที่ดุดันและการผสมผสานในแบบเฉพาะตัวระหว่างความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นและความเมตตากรุณาก็ตรงกับมิลเดรด เธอถ่ายทอดคุณสมบัติของการเป็นคนสู้ไม่ถอย ตัวเธอเองก็เป็นคนมุ่งมั่นอยู่แล้ว และเช่นเดียวกับมิลเดรด เธอไม่ยอมรับเรื่องงี่เง่าอะไรทั้งสิ้น และเรื่องนั้นก็ปรากฏออกมาอย่างชัดเจน”

แม้ว่าแม็คดอร์มานด์ตั้งคำถามกับบทหนังอย่างต่อเนื่อง แต่เธอกับแม็คดอนนาก็เห็นพ้องกันในเรื่องการวางสมดุลให้โทนเรื่อง “เรามองไปในทิศทางเดียวกัน” แม็คดอนนากล่าว “ในแง่การควบคุมไม่ให้ความตลกมากลบทับอารมณ์ความรู้สึกของมิลเดรด เราทั้งคู่ต่างรู้สึกว่ามิลเดรดควรได้ปลดปล่อยความโกรธแค้นออกมาโดยอิสระ ควรจะปลดปล่อยความรู้สึกของตัวเองออกมาทั้งหมด ฟรานเซสต้องโยนลูกบอลหลายลูกอยู่ในอากาศ และเธอก็รับและโยนลูกบอลทุกลูกได้อย่างยอดเยี่ยม”

ในช่วงเริ่มต้นของการเตรียมตัว แม็คดอร์มานด์ได้แนวคิดมาข้อหนึ่งซึ่งในไม่ช้าก็ได้นำมาใช้ในการแสดงของเธอ นั่นคือการให้มิลเดรดใส่ชุดชุดเดียวตลอดทั้งเรื่อง เป็นชุดประจำตัวตามแบบชนชั้นแรงงานซึ่งไร้การตกแต่งใดๆ และเธอใส่เป็นประจำทุกวันราวกับเป็นหน้าที่ “ฟรานเซสคิดขึ้นมาว่าน่าจะให้มิลเดรดใส่ชุดจั๊มสูทตัวเดิมทุกวันเหมือนเป็น ‘เครื่องแบบออกรบ’ และผมก็คิดว่าน่าจะเป็นแนวคิดที่ดีในเชิงภาพยนตร์” แม็คดอนนาเล่า “เราทำงานร่วมกับนักออกแบบเครื่องแต่งกาย เมลิสซา ท็อธ เพื่อให้แน่ใจว่าชุดนั้นไม่ดูน่าเบื่อเกินไป และแต่งเติมรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ลงไปตามจุดต่างๆ แต่ผมชอบแนวคิดที่ว่ามิลเดรดไม่มีเวลามานั่งคิดว่าเธอจะใส่อะไร เพราะเธอกำลังออกรบ”

ท็อธเสริมว่า “มิลเดรดเป็นตัวละครที่สุดโต่งจากแนวทางของฟรานเซสในการถ่ายทอดบทนี้ออกมา และสำหรับเธอ สิ่งสำคัญคือการแสดงให้เห็นว่ามิลเดรดกำลังปฏิบัติภารกิจในทุกๆ วัน ซึ่งภารกิจนั้นขับเคลื่อนเธอให้ก้าวไปข้างหน้านับตั้งแต่ตอนที่เธอแต่งตัวในตอนเช้า บางครั้งเธออาจพันผ้าโพกหัว บางครั้งก็ไม่ และมีอยู่จุดหนึ่งที่เธอใส่ผ้ากันเปื้อนจากร้านกิฟต์ช็อปทับจั๊มสูทด้วย แต่สำหรับฟรานเซส จั๊มสูทนั้นเป็นส่วนหนึ่งในการแสดง บางครั้งเสื้อผ้าก็สามารถปลดปล่อยนักแสดงเพื่อช่วยให้นักแสดงสามารถเข้าถึงตัวละครได้อย่างเต็มที่”

ท็อธตื่นเต้นเป็นพิเศษที่ชุดเครื่องแบบกลายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับความเกรี้ยวกราดดุดันของแม็คดอร์มานด์ในบทนี้ “ฉันชอบที่การได้ฟรานเซสมารับบทนี้จุดประกายให้เกิดบทสนทนาที่ซับซ้อนมากๆ ว่าผู้หญิงรับบทแบบไหนได้บ้างและควรรับบทแบบไหน” เธอให้ความเห็น “ไม่มีการลดความดุเดือดใดๆ ทั้งนั้นในบทมิลเดรด”

วิลลาบี

“ผมทำทุกอย่างเท่าที่ทำได้เพื่อไล่ล่าเขา มิสซิสเฮย์ส

ผมว่าป้ายโฆษณาพวกนั้นมันไม่แฟร์เลย”

~ หัวหน้าตำรวจวิลลาบี

เมื่อป้ายโฆษณาปรากฏขึ้นนอกเมืองเอ็บบิง รัฐมิสซูรี ดูเหมือนว่ามันมุ่งโจมตีคนคนเดียว นั่นคือหัวหน้าตำรวจวิลลาบี ซึ่งไม่สามารถไขคดีฆาตกรรมลูกสาวของมิลเดรดจนทำให้เธอไม่อาจทำใจได้ แต่ยิ่งเราได้รู้จักหัวหน้าวิลลาบี ก็ยิ่งเห็นได้ชัดว่าผู้ชายที่มิลเดรดทำสงครามด้วยนั้นกำลังต่อสู้ในสนามรบของตัวเองอยู่แล้ว

“บิลล์เป็นคนดีที่มักจะมองเห็นสิ่งดีๆ ในตัวผู้อื่น” แม็คดอนนาให้ความเห็น “ในหลายๆ แง่ เขาเป็นแบบฉบับของตำรวจดีในเมืองเล็กๆ แต่เราได้พบตั้งแต่ต้นเรื่องว่าเขามีสุขภาพไม่ดีนัก และถึงตอนนี้เขาก็ได้เผชิญหน้ากับทางเลือกที่หม่นมืดและความเป็นจริงที่เลวร้าย มิลเดรดโจมตีเขาด้วยเหตุผลที่ถูกต้อง แต่เขาก็มีเหตุผลที่ดีมารองรับการกระทำของตัวเอง”

ผู้รับบทเป็นทั้งศัตรูตัวฉกาจและความหวังเดียวของมิลเดรดคือนักแสดงผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์สองครั้ง วู้ดดี ฮาร์เรลสัน ซึ่งเมื่อปีที่ผ่านมาได้รับบทบาทที่แตกต่างออกไปโดยสิ้นเชิงเป็นผู้พันที่ต่อสู้เพื่อมนุษยชาติใน WAR FOR THE PLANET OF THE APES และเป็นพ่อผู้ติดเหล้าและทำตัวแปลกประหลาดใน THE GLASS CASTLE แม็คดอนนาเป็นเพื่อนกับฮาร์เรลสันมานานหลายปี และก่อนหน้านี้ก็เคยเลือกเขาให้รับบทแก็งสเตอร์ผู้มีพลังเปี่ยมล้น ชาร์ลี คอสเทลโล ใน SEVEN PSYCHOPATHS

“เราเห็นแง่มุมที่แตกต่างออกไปของวู้ดดีในหนังเรื่องนี้ ต่างจากที่เขาเล่นใน SEVEN PSYCHOPATHS” แม็คดอนนาตั้งข้อสังเกต “บทนี้ตรงไปตรงมามากกว่า เศร้ากว่า และสมจริงกว่า วู้ดดีไม่เพียงแต่ใส่อารมณ์ขันลงไป แต่ยังมีความหนักแน่นในหลักการและความถูกต้องดีงามอย่างเด่นชัดด้วย ความดีงามของวู้ดดีในฐานะมนุษย์คนหนึ่งปรากฏในตัววิลลาบี และผมคิดว่าด้วยเหตุนี้เองที่ทำให้เขารับบทนี้ได้ดี”

บรอดเบนต์เสริมว่า “วู้ดดีรับบทเป็นคนนอกกฎหมายหรือคนนอกสังคมบ่อยมาก ตั้งแต่ NATURAL BORN KILLERS จนมาถึง RAMPART เขามักจะอยู่ฝั่งตรงข้ามกับกฎหมายหรือในที่มืด ดังนั้นความน่าสนใจในบทวิลลาบีคือการได้เห็นวู้ดดีเล่นเป็นหัวหน้าตำรวจที่มีจิตใจดีงาม เป็นคนที่ได้รับความเคารพและเป็นที่รักของคนในชุมชน”

ฮาร์เรลสันไม่ปฏิเสธโอกาสที่จะได้ทำงานร่วมกับแม็คดอนนาอีกครั้ง “ผมคิดว่ามาร์ตินเป็นคนที่มีความสามารถมากคนหนึ่งเลย” เขากล่าว “งานเขียนบทของเขามีความสดใหม่ มีชีวิตชีวา และตลก แต่ก็มีความเห็นอกเห็นใจ คุณจะไม่ค่อยเจอมือเขียนบทแบบนี้มากนัก เขาสามารถถ่ายทอดเรื่องราวเกี่ยวกับความสัมพันธ์ของมนุษย์และความเป็นมนุษย์ ขณะเดียวกันก็สามารถดึงเอาอารมณ์ขัน ความตึงเครียด และความรู้สึกออกมาให้มากที่สุดด้วย”

สิ่งหนึ่งซึ่งฮาร์เรลสันสนใจในบทวิลลาบีตั้งแต่แรกก็คือความสามารถในการรับเอาความกดดันทุกรูปแบบโดยไม่ยอมอ่อนข้อให้มัน “เขารับอารมณ์รุนแรงจากมิลเดรดและตัวเขาเองก็ป่วยด้วย ดังนั้นเขาต้องแบกรับอะไรไว้หลายอย่าง” ฮาร์เรลสันอธิบาย “แต่สิ่งที่ผมว่าน่าสนใจในตัวเขาก็คือเขาไม่ใช่คนที่ทำตัวเครียด เขาตกเป็นเป้าโจมตีในหลายๆ เรื่องแต่เขาก็ยังคงเดินหน้าต่ออยู่ดี”

เมื่อมีข้อความขึ้นบนป้ายโฆษณา มิลเดรดและวิลลาบีก็มาเผชิญหน้ากันทันทีแต่ทั้งสองต่างก็เข้าใจในตัวอีกฝ่ายหนึ่ง “ฉันกับวู้ดดีไม่ค่อยคุยเรื่องตัวละครกันมากนัก เราไม่จำเป็นต้องคุย” แม็คดอร์มานด์กล่าว “ฉันกับวู้ดดีมีบางอย่างคล้ายกันมาก ที่จริงแล้วฉันคิดว่าเขาน่าจะเล่นเป็นมิลเดรดได้และฉันก็น่าจะเล่นเป็นวิลลาบีได้ และฉันคิดว่าถ้าจะมีอะไรที่ใกล้เคียงแรงดึงดูดทางเพศในหนังเรื่องนี้ก็จะต้องเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นระหว่างตัวละครคู่นี้ค่ะ แต่มันน่าสนใจกว่านั้นมาก พวกเขาอาจเป็นเพื่อนกันก็ได้ พวกเขาอาจเป็นคู่ชีวิตกันก็ได้ และหากอยู่ในสถานการณ์ที่ดีกว่า พวกเขาอาจค้นพบคำตอบร่วมกันด้วย”

ฮาร์เรลสันเชื่อมโยงกับตัวละครวิลลาบีในเรื่องการอุทิศทุ่มเทให้ครอบครัวไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม “ผมเข้าใจดีถึงความจำเป็นที่เขาจะต้องดูแลลูกและภรรยา และผมชอบที่วิลลาบีไม่ได้สนใจอยู่แต่ปัญหาสุขภาพของตัวเอง” เขากล่าว “เขาเป็นคนประเภทที่ตั้งใจไว้แล้วว่า ‘ฉันจะไม่หยุดใช้ชีวิต’ เขาไม่ยอมให้เรื่องนี้มาบั่นทอนเขา”

เมื่อปัญหาส่วนตัวของวิลลาบีมาถึงจุดวิกฤติ แม็คดอนนาได้ให้อิสระเต็มที่แก่ฮาร์เรลสันในการสำรวจความเปลี่ยนแปลงทางอารมณ์ “มาร์ตินไม่ใช่ผู้กำกับมือหนัก” ฮาร์เรลสันอธิบาย “เขาจะให้แนวทางแค่นิดหน่อย แต่เขาเห็นภาพอย่างชัดเจน และสร้างความเปลี่ยนแปลงได้อย่างน่าทึ่งจากการปรับเพียงเล็กน้อย แล้วเขาก็ยังเป็นคนมีอารมณ์ขันในทุกๆ เรื่อง เขาสามารถแหย่ผมเล่นได้ถ้าผมทำอะไรมากเกินไปในแบบที่ทำให้ผมหัวเราะได้แทนที่จะรู้สึกกดดัน”

ฮาร์เรลสันกล่าวว่าสิ่งที่น่าสนใจที่สุดก็คือแนวทางที่แม็คดอนนาใช้กับตัวละครซึ่งมีอะไรมากกว่าที่เห็นภายนอก “ข้อดีในงานเขียนบทของมาร์ตินก็คือเขานำคุณเข้าไปภายในตัวละครซึ่งดูเหมือนเป็นอย่างหนึ่ง จนกระทั่งคุณตระหนักว่าตัวละครมีอะไรเยอะกว่านั้นมาก และจากนั้นคุณก็เริ่มจะเอาใจช่วยตัวละคร และเห็นบางอย่างนอกเหนือจากที่คุณคิดไว้ตอนแรก สุดท้ายเขาจึงสามารถสร้างสิ่งที่จะอยู่กับตัวคุณอย่างแท้จริง” ฮาร์เรลสันสรุป

แอนน์ ภรรยาของหัวหน้าวิลลาบี มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้วิลลาบีควบคุมสติได้ ผู้มารับบทนี้คือแอบบี คอร์นิช ซึ่งก่อนหน้านี้เคยร่วมงานทั้งกับแม็คดอนนาและฮาร์เรลสันใน SEVEN PSYCHOPATHS ทำให้ความสัมพันธ์แบบสามีภรรยาดูสมจริงตั้งแต่เริ่มงานวันแรก “ฉันกับวู้ดดีเป็นเพื่อนกัน การถ่ายทอดชีวิตคู่ที่มีความผูกพันแนบแน่นก็เลยง่ายยิ่งขึ้น” คอร์นิชกล่าว “สำหรับฉันแล้ว ส่วนสำคัญในการรับบทแอนน์คือการทำตัวตามอิสระ แอนน์กับวิลลาบีมีชีวิตคู่ที่พัฒนาไปมาก เต็มไปด้วยความรักและความชื่นชมซึ่งกันและกัน แต่ทั้งคู่ก็สนุกกับการได้แกล้งอีกฝ่าย ทำให้อีกฝ่ายหัวเราะและหลอกล่อกัน เหมือนกับว่าความรักในวัยเยาว์ของทั้งสองยังคงอยู่พร้อมกับความเป็นอมตะจากช่วงเวลาอันยาวนานที่พวกเขาอยู่ร่วมกันมา”

ฮาร์เรลสันสร้างความประทับใจให้คอร์นิชในการรับบทเป็นวิลลาบี ทำให้เธอสามารถรับบทเป็นแอนน์ได้อย่างเป็นธรรมชาติเมื่อต้องรับมือกับความเสื่อมถอยของสามี “ในฐานะนักแสดง วู้ดดีเล่นได้จริงใจมาก” เธอตั้งข้อสังเกต “เป็นเรื่องดีที่ได้เห็นเขาสร้างตัวละครวิลลาบีให้มีชีวิตชีวาในจุดที่ตัวละครตัวนี้ต้องเผชิญสถานการณ์ซึ่งค่อนข้างหดหู่ โชคชะตากำลังจ้องหน้าวิลลาบีแต่วู้ดดีก็ยังทำให้เขาดูมีพลัง เป็นเรื่องสนุกด้วยเพราะฉันไม่มีทางรู้เลยว่าวู้ดดีกำลังจะทำอะไร และการรับบทเป็นสามีภรรยากับนักแสดงอย่างวู้ดดีก็น่าตื่นเต้นมากค่ะ”

ดิ๊กสัน

“คุณจะมาเรียกเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าไอ้เลวในสถานีตำรวจไม่ได้ มิสซิสเฮย์ส

หรือไม่ว่าจะที่ไหนก็เถอะ”

~ เจ้าหน้าที่ดิ๊กสัน

ดิ๊กสัน มือขวาของวิลลาบี เป็นเจ้าหน้าที่ซึ่งทำลายศักยภาพของตัวเองด้วยการไร้ความอดทนและอารมณ์ที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ เขาเข้ามาแย่งชิงอำนาจการสั่งการของหัวหน้าตำรวจ

ผู้มารับบทนี้คือแซม ร็อคเวลล์ ซึ่งเคยรับบทบาทเป็นตัวละครที่คนดูลืมไม่ลงมาแล้วมากมาย ไม่ว่าจะเป็นบท ชัค แบร์ริส ใน CONFESSIONS OF A DANGEROUS MIND, ผู้ฝึกศิลปะการต้มตุ๋นจากนิโคลาส เคจใน MATCHSTICK MEN, นักบินอวกาศ แซม เบลล์ ใน MOON, เคนนี วอเตอร์ส ตัวละครผู้ถูกปรักปรำใน CONVICTION ของโทนี โกลด์วิน, ชาร์ลี ฟอร์ด เพื่อนร่วมแก็งค์ของเจสซี เจมส์ ใน THE ASSASSINATION OF JESSE JAMES BY THE COWARD ROBERT FORD และบิลลี บิคเคิลใน SEVEN PSYCHOPATHS ของผู้กำกับแม็คดอนนา

“ดิ๊กสันคล้ายจะเป็นทุกอย่างที่คุณเกลียดในตัวมนุษย์คนหนึ่ง” แม็คดอนนายอมรับ “แต่ก็มีบางอย่างในตัวเขาที่ดูคล้ายเด็กและน่าสะเทือนใจ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นเพราะแนวทางของแซมในการถ่ายทอดตัวละครตัวนี้ด้วย ถึงแม้ว่าเขาจะน่ารังเกียจและทำเรื่องเลวร้ายแค่ไหนก็ตาม”

“ดิ๊กสันน่าจะเป็นตัวละครตัวโปรดของผมเลย” ฮาร์เรลสันยอมรับ “แซมมีความสามารถพิเศษในการรับบทเป็นคนที่คุณรู้สึกได้ว่ามีบางอย่างไม่ปกติ และที่จริงแล้วหลายสิ่งที่ดิ๊กสันทำก็เป็นเรื่องผิดมากๆ แต่เขาก็ยังมีคุณสมบัติอื่นมาชดเชย แซมในบทดิ๊กสันมีความไร้เดียงสาอย่างไม่น่าเชื่อ เพราะฉะนั้นคุณจึงห่วงใยเขาแม้ในเวลาที่เขาทำเรื่องแย่ๆ ผมคิดว่าเขาเป็นนักแสดงที่ยอดเยี่ยมและเป็นเรื่องดีมากครับที่ได้ร่วมงานกับเขาอีกครั้ง”

แม็คดอนนาและร็อคเวลล์เคยทำงานร่วมกันไม่เพียงใน SEVEN PSYCHOPATHS แต่ยังรวมถึงละครเวทีเรื่อง A BEHANDING IN SPOKANE ด้วย แต่เรื่องนี้นับเป็นพรมแดนใหม่ “ผมคิดเสมอว่าแซมเป็นคนที่ผมจะเลือกสำหรับนักแสดงในรุ่นนั้น” แม็คดอนนากล่าวถึงร็อคเวลล์ “เวลาที่เขาเผยด้านมืดออกมา เขาก็จะเล่นได้มืดสุดๆ”

ความสามารถที่หลากหลายของร็อคเวลล์เหมาะสมอย่างยิ่งกับตัวละครที่เผชิญความเปลี่ยนแปลงอย่างลึกซึ้งระหว่างเกิดเหตุการณ์ในหนัง “แซมดึงเอาความสามารถมากมายมาใช้ร่วมกับมาร์ติน” เกรแฮม บรอดเบนต์ตั้งข้อสังเกต “พวกเขาจะทดลองตัวเลือกหลายๆ แบบซ้ำแล้วซ้ำเล่า และเช่นเดียวกับงานเขียนของมาร์ติน แซมสามารถเป็นคนที่ทั้งตลก หดหู่ และโศกเศร้าได้ในเวลาเดียวกัน”

แม็คดอร์มานด์ชอบวิธีที่ร็อคเวลล์ถ่ายทอดตัวละคร “ฉันคิดว่างานนี้เป็นงานที่ดีที่สุดเท่าที่แซมเคยทำมา” เธอกล่าว “แซมกับมาร์ตินทำงานประสานเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันในฐานะนักแสดงและผู้กำกับที่ร่วมงานกันมาหลายครั้งและทำได้ดีขึ้นเรื่อยๆ”

แม็คดอร์มานด์กล่าวต่อไปว่า “ฉันกับแซมมีความเคารพซึ่งกันและกันและการได้ร่วมฉากกันก็อิ่มเอมมาก สิ่งที่เขาเลือกใช้นั้นไม่ขึ้นกับระเบียบกฎเกณฑ์ คาดเดาได้ยาก และยอดเยี่ยม เหมือนการขึ้นไปบนรถไฟเหาะโดยไม่รู้ว่าจะไต่ขึ้นเนินหรือดิ่งลงเหวเวลาไหน ฉันคิดว่าเขาก็รู้ว่าตัวเองมีจิตวิญญาณแบบเดียวกันกับฉันในการร่วมผจญภัยครั้งนี้ เราไม่เคยไปเกินจุดที่ย้อนกลับไม่ได้ แต่คล้ายกับเราห้อยต่องแต่งอยู่ที่ริมขอบของทุกสิ่ง และสิ่งที่ฉันชอบเกี่ยวกับดิ๊กสันก็คือ เขาได้รับโอกาสให้ไถ่โทษ มาร์ตินให้โอกาสเขาได้ไถ่โทษ และเขาไม่เคยเป็นแค่ตัวละครปลอมๆ เขาเป็นมากกว่านั้นและสิ่งที่ช่วยเขาไว้ก็คือความรักที่เขามีต่อวิลลาบี เป็นความอ่อนโยนระหว่างผู้ชายสองคน”

เช่นเดียวกับเพื่อนนักแสดง ร็อคเวลล์สนใจการเขียนบทของแม็คดอนนา ร็อคเวลล์กล่าวว่า “มาร์ตินเก่งด้านการเขียนบทที่พูดถึงเรื่องต้องห้าม เรื่องต้องห้ามทางเชื้อชาติและเรื่องต้องห้ามอื่นๆ ซึ่งเขานำเสนอด้วยวิธีการที่น่าสนใจมากมาย”

ร็อคเวลล์ตั้งข้อสังเกตว่าแม้แม็คดอนนาจะเกิดในไอร์แลนด์ แต่เขาเข้าใจเมืองเล็กๆ ในอเมริกาเป็นอย่างดี อาจเป็นเพราะเมืองของชนชั้นแรงงานนั้นมีความคล้ายคลึงกันไม่ว่าที่ไหน “มาร์ตินเข้าใจเมืองเล็กๆ ดี เพราะในไอร์แลนด์ก็มีความตึงเครียดในลักษณะเดียวกัน ชนชั้นแรงงานก็คือชนชั้นแรงงานไม่ว่าที่ไหน และเขาก็เขียนเรื่องนี้ได้ดีมาก ผมว่าเราสามารถเล่นเรื่องนี้ด้วยสำเนียงไอริชหรือสำเนียงบรูคลิน มันก็จะเหมือนกับที่ให้เรื่องเกิดในมิสซูรีเลยครับ”

สำเนียงท้องถิ่นอาจไม่มีผลสำคัญอะไร แต่ดิ๊กสันนั้นเป็นตัวละครที่มีเอกลักษณ์เฉพาะของตัวเอง “ดิ๊กสันเป็นตัวละครแบบคลาสสิก” ร็อคเวลล์ให้ความเห็น “เขาเป็นเหมือนวายร้ายเอ็ดมันด์ในเรื่อง King Lear ในแง่ที่เขาโกรธเกรี้ยวกับทุกสิ่งทุก

อย่าง โกรธโลกใบนี้และมักคิดว่าเขาถูกคนอื่นปฏิบัติอย่างเลวร้ายเสมอ ตอนแรกเขาดูเหมือนตัวร้ายประจำเมืองเอ็บบิง แต่เขาซับซ้อนมากกว่านั้น”

สุดท้ายแล้ว เมื่อเรื่องเผยออกมาว่าดิ๊กสันมีชีวิตในบ้านที่ต้องพึ่งพาคนอื่นตลอดเวลา ก็จะเห็นได้ชัดขึ้นว่าความกระวนกระวายของเขามีต้นตอมาจากไหน “เขายังคงอาศัยอยู่กับแม่และเหมือนคนไม่ยอมโต ไม่สามารถใช้ชีวิตเป็นอิสระและเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวได้” ร็อคเวลล์อธิบาย “เขามีความสัมพันธ์ที่เลวร้ายกับแม่จนกลายเป็นความบอบช้ำทางจิตใจ แล้วเขาก็นำความรู้สึกนั้นไปลงกับคนอื่น”

“ผมคิดว่าเราทุกคนสามารถเชื่อมโยงกับความโกรธและความเศร้าของเขาได้” ร็อคเวลล์กล่าวต่อ “รวมถึงการที่เขายกย่องหัวหน้าวิลลาบีให้เป็นฮีโร่ ผมคิดว่าเราหลายคนรู้สึกเคารพยกย่องใครสักคนและต้องการได้รับการยอมรับจากคนคนนั้น”

ร็อคเวลล์กับฮาร์เรลสันดูเหมือนจะค้นพบคลื่นที่ตรงกันซึ่งช่วยให้ความสัมพันธ์อันซับซ้อนระหว่างดิ๊กสันกับวิลลาบีลึกซึ้งขึ้นไปอีก “วู้ดดีเป็นคนมีหลักการทางศีลธรรม แล้วเขาก็เป็นคนสบายๆ ซึ่งช่วยให้เรารู้สึกผ่อนคลายได้ ในนักแสดงเก่งๆ มักจะมีการต่อต้านอำนาจและไม่ขึ้นกับกฏเกณฑ์อยู่ ซึ่งวู้ดดีก็นำทั้งหมดนั้นมาใส่ในตัววิลลาบี” ร็อคเวลล์กล่าว “แนวทางของเขาคาดเดาไม่ได้เลย”

แม็คดอนนาและร็อคเวลล์เห็นตรงกันว่าความเสี่ยงของดิ๊กสันอยู่ที่การปล่อยให้เขากลายเป็นภาพล้อเกินจริงแม้เพียงชั่ววินาทีเดียว ความเป็นมนุษย์ของเขาคือแก่นสำคัญ “เราทั้งคู่ต่างรู้ว่าดิ๊กสันต้องออกมาสมจริงและไม่ใช่ตัวละครที่มาเล่นตลก” ร็อคเวลล์กล่าว “ที่จริงการทำให้ตัวละครตลกเกินไปหรือน่าสงสารมากเกินไปก็อันตรายพอกัน ผมคิดว่าสุดท้ายแล้วคนดูจะมีความรู้สึกขัดแย้งในตัวเองต่อดิ๊กสัน ผมอยากให้เขาทำให้ผู้ชมรู้สึกหงุดหงิด โกรธ และเพลิดเพลิน แต่ก็เห็นใจเขาด้วยในเวลาเดียวกัน”

เจมส์

“ผมรู้ว่าผมเป็นคนแคระที่ขายรถเก่าและติดเหล้า ผมรู้น่า

แต่คุณเป็นใครกันล่ะ คุณเป็นแม่สาวป้ายโฆษณาที่ไม่เคยยิ้มเลย …”

~ เจมส์

ผู้มารับบทเจมส์ คนท้องถิ่นผู้มีใจให้มิลเดรด ก็คือปีเตอร์ ดิงค์เลจ ผู้ชนะรางวัลเอ็มมีสองครั้งและผู้ชนะรางวัลลูกโลกทองคำจากบททีเรียน แลนนิสเตอร์ บทบาทสำคัญในซีรีส์ GAME OF THRONES ทางช่อง HBO ในเรื่องนี้เขารับบทเป็นตัวละครที่แทบจะตรงกันข้าม เป็นคนขายรถเก่าและชนชั้นแรงงานซึ่งมีเป้าหมายหลักก็คือการได้เดทกับมิลเดรด ดิงค์เลจจำได้ว่าปฏิกริยาแรกที่เขามีต่อบทนี้คือ “มาร์ตินทำสำเร็จอีกแล้ว สิ่งหนึ่งที่มีอยู่ในบทหนังของมาร์ตินเสมอก็คือไม่ว่าบทจะเล็กแค่ไหน เขาก็เขียนออกมาได้ดีเสมอ เมื่อคุณพลิกหน้ากระดาษ ตัวละครทุกตัวจะลงลึกไปเรื่อยๆ และเจมส์ก็เป็นอย่างนั้นเช่นเดียวกับตัวละครอื่นๆ”

ดิงค์เลจบรรยายว่าเจมส์เป็น “คนที่ไม่ได้มองตัวเองในแง่ดีนัก แต่เขามุ่งมั่นที่จะให้มิลเดรดหันมาสนใจให้ได้” บทบาทนี้ให้โอกาสดิงค์เลจได้ทำงานร่วมกับฟรานเซส แม็คดอร์มานด์เป็นครั้งแรกด้วย “เธอเป็นสุดยอดนักแสดงเพราะเธอไม่ถือตัวเลย” เขาตั้งข้อสังเกต “เธอลงลึกกับบทบาทแบบเต็มร้อยตลอดเวลา”

ดิงค์เลจรู้สึกสนุกที่ได้เห็นแซม ร็อคเวลล์ นำภาพของดิ๊กสันมาพลิกกลับ “สิ่งที่มาร์ตินและแซมทำก็คือการตั้งคำถามถึงคำตัดสินที่คุณมีต่อดิ๊กสัน ซึ่งพวกเขาทำได้น่าพอใจมาก มันทำให้คุณได้ใช้ความคิดขณะที่คุณเริ่มเห็นอกเห็นใจเขา”

เช่นเดียวกับนักแสดงคนอื่นๆ ในเรื่อง ดิงค์เลจสนใจความคล่องแคล่วของแม็คดอนนาในการเปลี่ยนอารมณ์ของเรื่องได้อย่างรวดเร็ว “มาร์ตินวางสมดุลระหว่างความตลกและความจริงจังได้พอดี ผมว่าก็เหมือนเหตุผลที่บางครั้งคนเราหัวเราะในงานศพ” ดิงค์เลจกล่าว “ในชีวิตจริง อารมณ์ตรงกันข้ามมักมาปะทะกันแบบนี้แหละครับ จู่ๆ คุณอาจได้สัมผัสอารมณ์ขันหลังเหตุการณ์โศกเศร้า มันช่วยให้เราโล่งใจได้มากและผมคิดว่าเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่จะแสวงหาความรู้สึกแบบนั้น มาร์ตินชอบสร้างความสะเทือนใจ แล้วก็ตลก แล้วก็สะเทือนใจอีกครั้ง เพราะเขาเป็นนักเล่าเรื่องแบบนั้น”

ชาร์ลี

“คุณไม่ต้องอธิบายเหตุผลเรื่องที่คุณกินมื้อเย็นกับคนแคระหรอก มิลเดรด”

~ ชาร์ลี

ชาร์ลี สามีเก่าของมิลเดรด อาจรู้สึกโศกเศร้าเรื่องลูกสาวเช่นเดียวกับเธอ แต่นั่นเป็นเพียงสิ่งเดียวที่ทั้งสองมีร่วมกัน

ตัวละครซึ่งมีทั้งความเจ็บปวดและความตลกพอๆ กันอย่างชาร์ลี เป็นบทสมทบอีกบทหนึ่งที่ไม่ได้ตรงไปตรงมา ด้วยเหตุนี้แม็คดอนนาจึงเลือกผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ จอห์น ฮอว์คส์ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากการแสดงที่ขึงขังจริงจังแต่ละเอียดอ่อนใน WINTER’S BONE, MARTHA MARCY MAY MARLENE, THE SESSIONS และซีรีส์คลาสสิกทางช่อง HBO เรื่อง DEADWOOD “จอห์นปรากฏตัวในฉากเพียงไม่กี่ฉาก แต่เขาต้องทำให้คุณอึ้งทุกครั้ง แล้วก็เขาทำได้จริงๆ” แม็คดอนนากล่าว

ฮอว์คส์กล่าวถึงความน่าสนใจของตัวละครตัวนี้ว่า “ชาร์ลีอาจเป็นตัวละครที่ดูไม่น่าเห็นใจเลย ซึ่งในฐานะนักแสดงผมก็ไม่ได้กลัวบทแบบนี้หรอกครับ แต่มาร์ตินเขียนบทนี้ให้มีความละเอียดอ่อนโดยใส่สีสันและรสชาติอื่นๆ ลงไปในตัวเขาด้วย คุณจะเห็นได้ว่ายังมีความรักระหว่างเขากับมิลเดรดซึ่งคุณไม่คาดคิดมาก่อน และฟรานเซสก็รับบทมิลเดรดได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งช่วยดึงความสัมพันธ์นี้ให้ปรากฏชัดขึ้นด้วย”

ฮอว์คส์เองก็รอคอยที่จะได้ทำงานร่วมกับแม็คดอร์มานด์ “เธอเป็นนักแสดงคนโปรดคนหนึ่งของผมเลยครับ เพราะฉะนั้นจึงเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นแล้วก็น่าหวั่นใจด้วย” เขายอมรับ “แต่เธอเป็นคนใจดี อบอุ่น และเอื้อเฟื้อทั้งในฐานะมนุษย์คนหนึ่งและในฐานะนักแสดง ผมรู้สึกได้ถึงความเป็นกันเองตั้งแต่แรกเลย บางครั้งระหว่างอยู่ในฉาก ผมจะมัวแต่มองดูเธอแล้วถึงนึกขึ้นได้ว่าตัวเองควรจะพูดบทได้แล้ว”

ตลอดการสนทนาโต้ตอบระหว่างชาร์ลีและมิลเดรดนั้นมีเงื่อนงำให้สัมผัสได้ว่าต่างคนต่างเคยทำร้ายกันและกันมาในอดีต “ผมคิดว่าชาร์ลีอาจดื่มเหล้าและโหวกเหวกโวยวายใส่เธอตอนที่ทั้งสองยังอยู่ด้วยกัน แต่ผมคิดว่าเขาก็รักเธอมาก ดังนั้นมันจึงไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบขาวกับดำ ผมชอบความเป็นสีเทาในสิ่งต่างๆ และหนังเรื่องนี้ก็นำเสนอแง่มุมแบบนี้มากมาย” ฮอว์คส์ระบุ

การทำงานกับแม็คดอนนาช่วยให้ฮอว์คส์สำรวจแง่มุมสีเทาเหล่านั้นได้อย่างตรงจุดและแม่นยำ เขาอธิบายว่า “มาร์ตินเป็นผู้กำกับที่ไม่ได้เอาแต่เดา เขาเฉพาะเจาะจงมากและชาร์ลีก็เป็นตัวละครที่ลึกลับซับซ้อน มาร์ตินช่วยผมได้มากตลอดการทำงาน ผมคิดว่าเพราะมาร์ตินมาจากการทำละครเวที เขาก็เลยสร้างบรรยากาศการทำงานที่แตกต่างออกไป โดยเน้นความเป็นพี่เป็นน้องและความร่วมมือร่วมใจกับนักแสดง”

ร็อบบี

“ทั้งที่พยายามหลีกเลี่ยงรายละเอียดของเหตุการณ์ เพราะไม่คิดว่าจะได้อะไรขึ้นมา และเขาก็คิดว่าตัวเองคงทนไม่ได้ แต่มันช่างดีซะเหลือเกินที่ต้องมาเห็นข้อความสูง 20 ฟุต เขียนด้วยตัวอักษรสวยงาม บอกเล่ารายละเอียดช่วงเวลาสุดท้ายในชีวิตของเธอ”

~ ร็อบบี เฮย์ส

คนที่ต้องรับมือกับความตายในแบบของตัวเองก็คือลูกคนเดียวที่เหลืออยู่ของมิลเดรด ลูกชายวัยรุ่น ร็อบบี ซึ่งพบว่าความหมกมุ่นที่แม่มีต่อการฆาตกรรมพี่สาวของเขานั้นเป็นเรื่องตลกอันหม่นมืด ลูคัส เฮดเจส ซึ่งเพิ่งได้เข้าชิงรางวัลออสการ์จากบทบาทใน MANCHESTER BY THE SEA เป็นผู้มารับบทนี้

“ผมคิดว่าร็อบบีผ่านจุดเปลี่ยนในชีวิตนับตั้งแต่พี่สาวตายไป” เฮดเจสกล่าว “เขาอาจอ่อนแอ อ่อนไหว และยังไม่เป็นผู้ใหญ่ในช่วงก่อนหน้านี้ แต่ผมคิดว่าคุณจะได้เห็นเขาเป็นตัวของตัวเองและแข็งแกร่งขึ้นกว่าเดิมมาก แล้วเขาก็ยังมีอารมณ์ขันที่น่าทึ่งทั้งที่ต้องเผชิญเรื่องราวเลวร้ายมากมาย และมาร์ตินก็ชอบใส่อารมณ์ขันลงไปในความหม่นมืด”

เฮดเจสมองว่าร็อบบีรู้สึกว่าตัวเองถูกมองข้ามเพราะมิลเดรดเก็บความโศกเศร้าร่วมกันไว้เป็นเรื่องส่วนตัว และเธอแทบไม่ให้เขาเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ “หลังจากแองเจลาตาย มิลเดรดตกอยู่ในสภาพช็อคนานเจ็ดเดือน ดังนั้นร็อบบีจึงคอยดูแลเธอแบบที่ปกติแล้วลูกไม่ต้องมาทำกับแม่” เฮดเจสอธิบาย “เขารักแม่มาก แต่ผมคิดว่าเขารู้สึกสับสนเพราะเธอไม่ได้คุยกับเขาเลยว่าเธอกำลังเผชิญกับอะไรหรือมีเจตนาอย่างไร และเธอไม่คิดที่จะเตือนเขาเรื่องป้ายโฆษณาด้วยซ้ำ”

ผลกระทบที่รุนแรงที่สุดจากมิลเดรดน่าจะเกิดขึ้นกับลูกชาย ร็อบบี ซึ่งเธอทอดทิ้งไม่ใส่ใจเพื่อหันไปหาความยุติธรรมให้ลูกสาว “มิลเดรดรู้ว่าร็อบบีอยู่รอดได้ เขาก็เลยกลายเป็นคนรับผลกระทบข้างเคียงไป ในแง่หนึ่งก็เหมือนเธอยอมสละเขาไป” แม็คดอร์มานด์กล่าว

นั่นหมายความว่าแม็คดอร์มานด์ต้องทำงานกับเฮดเจสด้วยแนวทางเฉพาะตัว “ก่อนที่ฉันจะเข้าฉากกับลูคัส ฉันบอกเขาว่าฉันสามารถช่วยเขาเรื่องการแสดงได้เมื่ออยู่หลังกล้อง ในความเป็นจริงคือขณะเราอยู่ในฉาก เขาจะไม่ค่อยได้อะไรจากฉัน เพราะร็อบบีก็ไม่ค่อยได้รับการตอบสนองอะไรในช่วงเจ็ดเดือนที่ผ่านมา มิลเดรดอยู่บนโซฟาโดยแทบไม่หายใจคล้ายกับเขาต้อง

มาคอยดูแลคนทุพพลภาพ และฉันรู้ว่าเป็นเรื่องยากสำหรับลูคัสเพราะเขาเป็นนักแสดงหนุ่มที่ต้องการฟังและตอบสนองกับนักแสดงคนอื่น แต่ไม่ใช่กับมิลเดรด ฉันไม่สามารถทำอย่างนั้นให้เขาได้เพราะเธอไม่สนใจร็อบบีอีกต่อไป”

เฮดเจสเพลิดเพลินกับโอกาสที่จะได้เรียนรู้จากแม็คดอร์มานด์ “เหมือนกับว่าผมอยู่โรงเรียนการแสดงและเธอเป็นอาจารย์ครับ” เฮดเจสกล่าว เขาเพิ่งเข้าโรงเรียนการแสดงที่ School of the Arts ของมหาวิทยาลัยนอร์ธแคโรไลนา “ผมจดบันทึกสิ่งที่ฟรานเซสพูดเก็บไว้โดยเฉพาะเลย คงน่าตื่นเต้นดีที่จะได้กลับไปอ่านครับ”

ในแง่ที่ว่าอะไรทำให้การตัดสินใจของเธอมีพลังมากขนาดนั้น เฮดเจสกล่าวว่า “ไม่มีเรื่องไร้สาระเลยครับ ผมไม่เคยได้ยินฟรานเซสพูดอะไรโดยที่เธอไม่ได้หมายความตามนั้นจริงๆ เธอจะไม่ชมใครถ้าเธอไม่คิดว่าคนคนนั้นสมควรได้รับคำชม เธอใจดีแต่เธอก็เด็ดเดี่ยวแน่วแน่น เธอผ่านประสบการณ์มามากเหมือนกันกับมิลเดรด”

เรด

“ไม่ได้ขัดกฎหมายข้อไหนในเรื่องความเหมาะสม ไมได้ขัดกฎหมายห่าเหวอะไรทั้งนั้น

ผมตรวจสอบมาหมดแล้ว”

~ เรด

เมื่อมิลเดรด เฮย์ส ตัดสินใจซื้อป้ายโฆษณาสามป้ายเพื่อท้าทายตำรวจและชุมชนเมืองเอ็บบิง เธอได้ทำข้อตกลงทางธุรกิจกับชายหนุ่ม เรด เวลบี ที่สำนักงานโฆษณาเมืองเอ็บบิง ข้อตกลงซึ่งไม่ได้เป็นลางดีนักสำหรับเรด ผู้มารับบทนี้คือคาเลบ แลนดรี โจนส์ ซึ่งเริ่มต้นงานแสดงจากบทเด็กขี่จักรยานในหนังเรื่อง NO COUNTRY FOR OLD MEN ของพี่น้องโคเอน และเมื่อไม่นานมานี้ได้แสดงในหนังสยองขวัญเรื่องฮิต GET OUT โจนส์กล่าวว่าบทหนังเรื่องนี้โดนใจเขาจนถึงขั้นที่ “ผมจะรับเล่นบทไหนก็ได้ในหนังเรื่องนี้ที่มาร์ตินขอให้ผมเล่น”

แต่บทเรดเป็นความท้าทายที่แตกต่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะเขาถูกล่อให้ไปพัวพันกับการเรียกหาความยุติธรรมของมิลเดรดจนกระทั่งส่งผลกระทบต่อตัวเขาเอง “ในตอนแรกผมคิดว่าเรดแค่อยากดูดีต่อหน้าเลขาเจ้าเสน่ห์ของเขาและเขาก็อยากได้เงินด้วย เขาก็เลยคิดว่า ‘โอเค คุณผู้หญิงจอมเพี้ยน ผมจะรับเงินของคุณ’ แต่เมื่อเขารู้เรื่องราวของมิลเดรดและสถานการณ์ที่เธอต้องเผชิญมากขึ้น มันกลับกลายเป็นอย่างอื่น” โจนส์อธิบาย

เรดเป็นคนนอกของเมืองนี้เช่นกัน “แนวคิดของมาร์ตินคือเรดตั้งใจเอาไว้ว่าสักวันหนึ่งเขาจะออกจากเมืองเอ็บบิง และเขาก็คาดว่าตัวเองจะได้ออกไป แต่ผมคิดว่าเขาอาจไม่ทำอย่างนั้นก็ได้” โจนส์กล่าว

มีฉากหนึ่งที่เรดถูกเหวี่ยงออกจากหน้าต่าง แม็คดอนนาตัดสินใจถ่ายทำเหตุการณ์นั้นด้วยวิธีการที่ท้าทายในแบบช็อตเดียว

“ฉากที่หน้าต่างของเรดนั้นเดิมเขียนไว้ในบทให้เป็นฉากเทคเดียว” แม็คดอนนาอธิบาย “และมันเป็นฉากสำคัญของหนัง เราจัดเวลาเอาไว้เต็มวันเพื่อถ่ายฉากนี้ จากนั้นก็เตรียมตัวอย่างหนัก เราถ่ายทำแค่สักสี่หรือห้าครั้งก็ได้แล้ว และจบงานได้ก่อนเที่ยงวัน ผมไม่รู้ว่าเวลาที่เหลือในวันนั้นเราทำอะไรต่อ รู้สึกว่าเราจะดื่มและฉลองกันครับ เป็นเรื่องสนุกที่ได้ถ่ายทำเทคยาวสองนาทีซึ่งมีเหตุการณ์ต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย”

นักแสดงคนอื่นๆ ใน THREE BILLBOARDS OUTSIDE EBBING, MISSOURI ได้แก่ ซามารา วีฟวิง ในบทเพเนโลพี เพื่อนสาวของชาร์ลีซึ่งแทบยังไม่เป็นสาวเต็มตัว, อแมนดา วอร์เรน ในบทเดนิส คนสนิทเพียงคนเดียวของมิลเดรด, เคอร์รี คอนดอน ในบทพาเมลา เพื่อนหญิงของเรด และเชลโค อิวาเนคในบทเซดริค จ่าประจำสถานีตำรวจ

เคอร์รี คอนดอน ซึ่งเพิ่งเล่นหนังเรื่อง CAPTAIN AMERICA: CIVIL WARS กล่าวถึงพาเมลาว่า “พาเมลาเป็นสัญลักษณ์แทนหญิงสาวที่ลูกสาวของมิลเดรดจะไม่มีวันได้เป็น การสร้างตัวละครสำคัญจากคนที่พูดแค่ไม่กี่ครั้งในเรื่องนั้นเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวมากๆ ของมาร์ติน”

อิวาเนคซึ่งทำงานร่วมกับแม็คดอนนาใน IN BRUGES ก็ชื่นชอบตัวละครที่เขาเล่น “ผมชอบการรับบทเป็นคนที่จริงจังกับงานของตัวเองแม้ว่าจะอยู่ในโลกใบเล็กๆ ก็ตาม” เขากล่าว

แม็คดอนนาฝึกซ้อมอย่างตั้งใจร่วมกับนักแสดงทั้งหมด ยกเว้นแม็คดอร์มานด์ซึ่งมากองถ่ายในช่วงสุดท้าย เป็นแนวคิดที่แม็คดอร์มานด์เสนอกับเขาเอง

“มันเจ๋งดีเพราะว่ามิลเดรดประกาศสงครามกับทุกคน ดังนั้นฟรานเซสจึงมองว่าคงดีกว่าถ้าได้สำรวจปฏิกริยาเหล่านั้นจริงๆ ตอนอยู่หน้ากล้อง แล้วผมก็เริ่มเห็นด้วย ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เห็นด้วยตั้งแต่แรกก็ตาม” แม็คดอนนากล่าว “การทำงานกับนักแสดงคนอื่นๆ แทบจะเหมือนกับงานละครเวที เราพูดคุยกันมากมายเกี่ยวกับตัวละครและทางเลือกของตัวละคร มันเป็นงานรวมนักแสดงที่ลงตัวครับ”

งานภาพ

“อย่างน้อยฉันก็ได้มีความหวังอยู่วันหนึ่ง ก็มากกว่าที่เคยมีในช่วงที่ผ่านมา”

~ มิลเดรด เฮย์ส

แม้ว่าเอ็บบิงเป็นเมืองสมมติ มาร์ติน แม็คดอนนา ก็ได้ใส่บรรยากาศสถานที่ลงไปในหนังเรื่องนี้ เป็นสถานที่ซึ่งมีมนต์เสน่ห์ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความอึดอัดน่ากลัวตามแบบฉบับเมืองในชนบทที่ทุกคนต่างรู้เรื่องราวของกันและกันดี เขาร่วมงานกับทีมงานอันได้แก่ผู้กำกับภาพ เบน เดวิส, ผู้ตัดต่อ จอน เกรกอรี, ผู้ออกแบบงานสร้าง อินบัล ไวน์เบิร์ก และผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เมลิสซา ท็อธ เพื่อสร้างเอ็บบิงให้เป็นตัวละครอันมีชีวิตชีวาอีกตัวหนึ่งของหนังเรื่องนี้

เดวิสเคยถ่ายทำหนังมาแล้วมากมาย ตั้งแต่ BEST EXOTIC MARIGOLD HOTEL มาจนถึง GUARDIANS OF THE GALAXY และก่อนหน้านี้ก็เคยทำงานร่วมกับแม็คดอนนาใน SEVEN PSYCHOPATHS “มีบางอย่างระหว่างเบนกับมาร์ตินที่ช่วยให้คำพูดและความคิดของมาร์ตินกลายเป็นภาพขึ้นมาได้” เกรแฮม บรอดเบนต์ตั้งข้อสังเกต “เบนถ่ายทอดทิวทัศน์ชนบทในอเมริกาได้อย่างน่าตื่นเต้น ขณะที่ถ่ายทอดตัวละครในแบบที่เรียบง่ายแต่ถึงอารมณ์”

แม็คดอนนาบรรยายถึงงานภาพว่า “สวยงามแต่ไม่ทันสมัยจนเกินไป ไม่ประดิษฐ์ตกแต่งหรืออัดแน่นจนเกินไป” เขาเสริมว่า “เบนกับผมเป็นแฟนหนังอเมริกันยุค 70 กันทั้งคู่ เราก็เลยอยากได้อารมณ์แบบนั้น”

เดวิดอาจใช้ยุค 70 เป็นแนวทางกว้างๆ สำหรับงานภาพของหนัง แต่เขาระบุว่าในงานของแม็คดอนนานั้น “ไม่ได้มีจุดอ้างอิงจริงๆ ให้ใช้ ผมไม่สามารถดูบทแล้วพูดออกมาได้ว่า ‘อืม ส่วนนี้ทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่องนี้หรือภาพแบบนี้’ ทั้งหมดมีลักษณะเฉพาะตัวและมีเอกลักษณ์ของมาร์ตินสูงมาก”

อย่างไรก็ดี เดวิสได้แรงบันดาลใจบางส่วนจากงานของสตีเฟน ชอร์ ช่างภาพแนวศิลปะชาวอเมริกันยุค 1970 ซึ่งมีชื่อเสียงจากภาพทิวทัศน์ที่ไร้ผู้คนและภาพหุ่นนิ่งที่บันทึกเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน เช่น มื้ออาหารในร้านเล็กๆ ป้ายโฆษณาริมถนน และโรงแรมเล็กอันโดดเดี่ยว

เขาไปอยู่ตามสถานที่ถ่ายทำเป็นเวลานานๆ เพื่อซึมซับสภาพพื้นที่และภูมิประเทศ “สำหรับผม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับมุมกล้อง ดังนั้นผมจึงใช้เวลาเตรียมตัวเยอะ แทนที่จะอยู่แต่ในห้องทำงาน เราจะออกไปนั่งอยู่ตามสถานที่ถ่ายทำ และผมก็จะถ่ายรูปมากมายเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการถ่ายทอดสถานที่เหล่านั้นออกมา” เดวิสอธิบาย “ผมสนใจแนวคิดเรื่องเมืองที่มีถนนสาย

หลักเส้นเดียวเป็นพิเศษ รวมถึงวิธีการถ่ายภาพเมืองเหล่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่สิ่งสำคัญคือการเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในแต่ละวัน”

นั่นหมายความถึงการปลุกปล้ำกับตารางการถ่ายทำซึ่งไม่เคยเป็นเรื่องง่าย “ส่วนใหญ่ผมอยากถ่ายทำหนังในช่วงเช้าตรู่หรือช่วงพระอาทิตย์ตก หรือที่เรียกว่าชั่วโมงมหัศจรรย์ แต่แน่ละว่าช่วงพระอาทิตย์ตกเป็นช่วงเวลาสั้นๆ และเราก็มีบทสนทนามากมายในหนังจนทำให้เป็นเรื่องท้าทายสำหรับมาร์ติน เขากับนักแสดงจะซ้อมครั้งแล้วครั้งเล่า จากนั้นก็ลงมือ เราจะถ่ายทำกันด่วนจี๋โดยหวังว่าจะได้การแสดงที่ต้องการ ซึ่งโชคดีที่เราทำได้”

หนังเรื่องนี้มีฉากเพลิงไหม้ที่ท้าทายในเชิงเทคนิคไม่ใช่แค่ครั้งเดียวแต่เป็นสองครั้ง ซึ่งทั้งสองฉากนั้นต้องมีการก่อไฟขึ้นมาจริงๆ “เราต้องการให้ทุกอย่างเกิดขึ้นจริงๆ เพื่อให้ได้อารมณ์จากเหตุการณ์นั้น” เดวิสอธิบาย “เวลาที่คุณก่อไฟจริงๆ มันจะส่งผลต่อนักแสดงในแบบที่คุณรู้สึกได้ นักแสดงจะได้พลังและความร้อนจากไฟ แต่แน่นอนว่าการก่อไฟขึ้นมานั้นต้องอาศัยการดูแลจัดการอย่างจริงจัง”

งานที่ละเอียดที่สุดงานหนึ่งของเดวิดคือฉากเทคเดียวต่อเนื่องตรงหน้าต่างสำนักงานของเรด แต่เขากล่าวว่าช็อตนั้นไม่ได้ตั้งใจให้ออกมาฉูดฉาด

“ในแง่เทคนิคเป็นเรื่องตื่นเต้นที่ได้ถ่ายทำฉากใหญ่ในช็อตเดียวครับ แต่คุณควรทำอย่างนั้นก็ต่อเมื่อมีเหตุผลที่ดีในการเล่าเรื่อง และมันจะต้องให้ผลลัพธ์ที่น่าตื่นเต้นจริงๆ” เขากล่าวถึงหลักเกณฑ์เบื้องต้นของตัวเอง “ผมคิดว่าในกรณีนี้มีทั้งสองอย่าง เพราะไม่มีการตัดต่อ ฉากนี้จึงดึงคนดูให้เข้าไปซึมซับประสบการณ์และดูคล้ายการเดินทางร่วมกับตัวละครของดิ๊กสันตลอดทั้งช่วง ความโหดเหี้ยมของฉากนี้ยิ่งน่าเชื่อถือมากขึ้นเพราะไม่มีการตัดต่อมาคอยเตือนว่าคุณกำลังดูเรื่องราวที่สมมติขึ้น”

เกรแฮม บรอดเบนต์กล่าวถึงฉากต่อเนื่องนี้ว่า “มันเป็นการนำโลกสองใบในหนังมารวมกัน นั่นก็คือสถานีตำรวจกับบริษัทโฆษณา ฉากนี้ซับซ้อนยุ่งยากมากเพราะเป็นการถ่ายทำช็อตเดียวที่ต้องเกี่ยวข้องกับบันได การต่อสู้ คนที่พุ่งออกไปนอกหน้าต่าง มาเจอบันไดต่อ เหตุรุนแรงบนถนน และกลับมาที่สถานีตำรวจ เบนและทีมงานทุกคนทำงานได้เยี่ยมมากในการทำให้ฉากออกมาถึงอารมณ์”

เมลิสซา ท็อธ เล่าถึงฉากนี้ว่า “หัวหน้าทุกฝ่ายต้องทำงานหนักในฉากนี้ค่ะ นอกจากการเตรียมตัวทั้งหมดแล้ว คาเลบยังต้องรีบเปลี่ยนเสื้อให้เป็นชุดที่ฉีกขาดและโชกเลือดขณะที่เขาวิ่งลงไปตามบันได ดังนั้นทีมงานของฉันจึงต้องมีส่วนร่วมด้วย สำหรับฉันแล้วมันเหมือนการดูละครเวที ฉันเองก็ลุ้นไปด้วยและเราทุกคนก็ตื่นเต้นมากที่ได้เห็นฉากนี้สำเร็จออกมา”

การสร้างเมืองเอ็บบิงและป้ายโฆษณา

“กระต่าย ‘ขอต้อนรับสู่มิสซูรี’ นี่ราคาเท่าไหร่ครับ”

~ ชายผมสั้นทรงกะลาครอบ

เอ็บบิง เมืองสมมติในเทือกเขาโอซาร์ค มีบุคลิกที่ขัดแย้งในตัวเองด้วยการเป็นสถานที่ซึ่งดูเหมือนไม่เปลี่ยนแปลงไปเลยแต่ก็เติบโตคู่ไปกับโลกสมัยใหม่ ขณะค้นหาเมืองที่เหมาะสมด้วยการเดินทางไปตามโอไฮโอ นิวเม็กซิโก มิสซูรี มิสซิสซิปปี และจอร์เจีย ทีมงานก็ได้บังเอิญมาพบเมืองซิลวาในนอร์ธแคโรไลนาซึ่งตั้งอยู่กลางเทือกเขาเกรตสโมคกี

“ซิลวาไม่มีอะไรบอกใบ้ว่าเรื่องราวอันดำมืดน่าจะเกิดขึ้นที่นั่น” แม็คดอนนาระบุ “สิ่งนี้เองที่สำคัญ คือการให้ตัวเมืองเป็นฉากหลังที่ช่วยให้สถานการณ์ของมิลเดรดโดดเด่นยิ่งขึ้น”

การเปลี่ยนซิลวาเป็นเอ็บบิงตกเป็นงานของผู้ออกแบบงานสร้าง อินบัล ไวน์เบิร์ก (BEASTS OF NO NATION, ST. VINCENT) ซึ่งได้เริ่มศึกษาประวัติทางภาพของเมืองใจกลางอเมริกา ไวน์เบิร์กอธิบายว่า “ฉันดูงานภาพถ่ายสองรูปแบบที่แตกต่างกัน คืองานของช่างภาพสารคดียุค 60 และ 70 ที่ถ่ายภาพชีวิตประจำวันในยุคนั้น และงานของช่างภาพรุ่นหลังๆ ที่บันทึกภาพเมืองซึ่งกำลังจะหายไป ฉันได้รับอิทธิพลทั้งจากจังหวะชีวิตประจำวันในเมืองเล็กๆ และภาพระลึกอดีตที่แสดงถึงวิถีชีวิตที่กำลังสูญหายไป”

จากนั้นเธอก็นำเสนอภาพเมืองเอ็บบิงที่เธอคิดขึ้นในใจให้สอดคล้องกับแม็คดอนนา “แนวคิดก็คือเอ็บบิงไม่ได้ร่ำรวยมหาศาลแต่ก็ไม่ได้ย่ำแย่เลวร้ายอะไร” เธอกล่าว “มันไม่ได้รับการแปรสภาพให้ดูโก้หรูและตัวเมืองก็ยังคงรูปแบบเดิมอยู่ เป็นเมืองที่เมื่อดูภายนอกก็เหมือนกับที่เคยเป็นมาเมื่อครึ่งศตวรรษก่อน แม้ว่าจะมีสัญญาณบ่งบอกความเปลี่ยนแปลงปรากฏให้เห็น เป็นเมืองที่ดูดิบเถื่อนอยู่บ้างแต่ก็มีประวัติอันน่าภาคภูมิใจ”

ด้วยแนวทางดังกล่าว ไวน์เบิร์กได้เริ่มตกแต่งซิลวาเพื่อใช้เป็นสถานที่ถ่ายทำ “สิ่งสำคัญสำหรับมาร์ตินคือทุกอย่างจะต้องจับต้องได้จริงๆ” ไวน์เบิร์กระบุ “ที่จริงแล้วมาร์ตินเลือกซิลวาเพราะไม่เพียงแต่มีถนนสายหลักแบบคลาสสิกเท่านั้น แต่เรายังสามารถแสดงให้เห็นระยะความใกล้ระหว่างบริษัทโฆษณากับสถานีตำรวจเช่นเดียวกับที่ปรากฏในบท สิ่งหนึ่งที่ชัดเจนมากในเมืองเล็กๆ ก็คือความรู้สึกที่ว่าผู้คนต่างใช้ชีวิตเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน และมาร์ตินก็มองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องสื่อบรรยากาศนี้ออกไป”

จากนั้นไวน์เบิร์กเริ่มหาถนนที่มิลเดรดจะเช่าป้ายโฆษณา ความท้าทายอยู่ที่ว่าแม็คดอนนาต้องการให้บ้านของมิลเดรดอยู่ใกล้ๆ เพื่อให้ช็อตที่ถ่ายทำจากพื้นที่บ้านมองเห็นป้ายโฆษณาลอยอยู่ในฉากหลังด้วย “เราสำรวจถนนมากมายหลายสาย” ไวน์เบิร์กหัวเราะ “ขับรถนานหลายวันอยู่ในนอร์ธแคโรไลนาฝั่งตะวันตกอันงดงาม”

ปรากฏว่าถนนเส้นแรกที่พวกเขาไปนั้นดึงดูดใจแม็คดอนนามากที่สุด “มันเป็นถนนที่มีทิวทัศน์และความงดงาม แต่ขณะเดียวกันก็มีความเหงาด้วย” เขาเล่า “จากนั้นอินบัลกับผมก็เริ่มต้นทำงานเรื่องหน้าตาป้ายโฆษณาของมิลเดร็ด”

ไวน์เบิร์กเสนอทางเลือกมากมายให้แม็คดอนนา “ฉันดูภาพถ่ายป้ายโฆษณาส่วนบุคคลทุกภาพที่หาได้” เธอกล่าว “เราลองตัวอักษรแบบต่างๆ สีต่างๆ และการจัดวางประโยคแบบต่างๆ สิ่งสำคัญที่ช่วยให้เราได้แนวทางก็คือแนวคิดของมาร์ตินที่ให้ใช้พื้นหลังสีแดงเพื่อให้ตัวอักษรโดดเด่นออกมา พอลองดูแล้วเราก็ชอบกัน ไม่ใช่แค่เป็นการตัดสินใจที่ดีแต่ยังทำให้สีแดงกลายเป็นสีหลักที่เราใช้เน้นตลอดหนังทั้งเรื่อง”

ป้ายโฆษณานี้เปลี่ยนแปลงผ่านช่วงเวลาต่างๆ รวมทั้งหมดหกรูปแบบ “มันซับซ้อนมากอย่างไม่น่าเชื่อค่ะ” ไวน์เบิร์ก กล่าว “เพราะป้ายเหล่านี้เป็นโครงสร้างขนาดใหญ่และเคลื่อนย้ายไม่ได้ง่ายๆ เราต้องนัดประชุมเพื่อกำหนดตารางงานเรื่องป้ายโฆษณากันโดยเฉพาะเลย” ทีมงานยังต้องคลุมป้ายไว้ทุกๆ คืนเพื่อให้คนท้องถิ่นที่ขับรถผ่านมาไม่ต้องตกใจกับป้ายเหล่านี้

งานออกแบบของไวน์เบิร์กมีตั้งแต่งานชิ้นใหญ่ไปจนถึงรายละเอียดเล็กจิ๋วในชีวิตของชาวเมืองเอ็บบิง เธอถึงขั้นทำสติ๊กเกอร์ติดกันชนรถและมาสค็อตประจำโรงเรียนไฮสคูลสำหรับเมืองที่ไม่ได้มีอยู่จริง

สำหรับสถานีตำรวจเมืองเอ็บบิงนั้น ไวน์เบิร์กและทีมงานได้แปรสภาพร้านขายของเก่าที่มีพื้นที่กว้างขวาง “ฉันศึกษาข้อมูลสถานีตำรวจเก่าในเมืองเล็กๆ มามากมาย” ไวน์เบิร์กกล่าว “เรารู้ว่าต้องการห้องทำงานรวมขนาดใหญ่ ถึงแม้ว่าตำรวจสมัยใหม่ไม่ค่อยใช้ห้องทำงานแบบนี้มากนัก แต่ในความคิดของฉันเอ็บบิงไม่เคยได้รับการปรับปรุงใหม่ จากนั้นทุกอย่างก็จะต้อง

กันไฟได้ไปจนกระทั่งถึงพื้นห้อง และผู้ควบคุมเอฟเฟ็กต์ของเรา เบิร์ต ดาลตัน ก็ได้ทำงานร่วมกับเราเพื่อทดสอบการเผาไหม้กับวัสดุทุกอย่างตั้งแต่โต๊ะไปจนถึงหลอดไฟ”

สำหรับสำนักงานของเรดนั้น ไวน์เบิร์กใช้รูปลักษณ์แบบย้อนยุค “ฉันได้แรงบันดาลใจจากภาพถ่ายบริษัทโฆษณายุค 20 และ 30 เป็นหลัก สมัยที่มีแต่ป้ายโฆษณาแบบดั้งเดิม ซึ่งก็เป็นไอเดียให้เราใช้ผนังแสดงประวัติความเป็นมาของเมืองเอ็บบิง เหมือนการจัดแสดงข้าวของในขบวนรถไฟครบรอบสองร้อยปี (Bicentennial Train Ride)” เธออธิบาย “เราพบป้ายโฆษณาเก่าในร้านขายของตกแต่งและยังได้ของประกอบฉากจากร้านทำป้ายท้องถิ่นด้วย”

ไวน์เบิร์กจัดบ้านของมิลเดรดให้ดูรก “มันจะต้องดูเหมือนบ้านของคุณแม่ผู้โศกเศร้า” เธอบรรยาย “ฟรานเซสมีแนวคิดมากมายที่เรานำมาใช้ สิ่งสำคัญสำหรับเราทุกคนก็คือห้องของลูกสาวจะต้องเป็นห้องที่สะอาดที่สุดในบ้าน ความท้าทายอยู่ที่การสร้างห้องวัยรุ่นที่มีชีวิตชีวาแต่ก็มีบรรยากาศรกร้างว่างเปล่า”

ฉากโปรดฉากหนึ่งของไวน์เบิร์กก็คือบ้านที่ดิ๊กสันอาศัยอยู่กับแม่ “มาร์ตินมีแนวคิดว่าคุณน่าจะเห็นถนนสายหลักจากระเบียงบ้านของดิ๊กสัน และที่น่าทึ่งก็คือเราพบบ้านที่สมบูรณ์แบบอย่างที่มาร์ตินจินตนาการไว้ มันเป็นบ้านหลังเล็กๆ และถ่ายทำได้ยากมากแต่มาร์ตินชอบมัน เราก็เลยทำให้มันใช้การได้ สำหรับงานศิลปะแบบพื้นถิ่นที่แม่ของดิ๊กสันทำนั้น เราซื้อภาพวาดสวยๆ สไตล์ naïve (ภาพวาดโดยคนที่ไม่ได้ผ่านการศึกษาด้านศิลปะ) ของศิลปินชาวเซาท์แคโรไลนา และตกแต่งบ้านด้วยภาพถ่ายครอบครัวและวอลล์เปเปอร์ที่มีคราบเหลืองจากการสูบบุหรี่”

ฉากโปรดอีกฉากหนึ่งของไวน์เบิร์กก็คือร้านกิฟต์ช็อปที่ดูแปลกตาของเมืองเอ็บบิง ซึ่งเป็นที่ทำงานของมิลเดรด “เราสร้างร้านนี้ขึ้นมาใหม่ทั้งหมดและเราต้องติดป้ายให้สินค้าเล็กๆ น้อยๆ และของที่ระลึกสำหรับเมืองที่ไม่มีอยู่จริง แนวคิดหนึ่งที่เราชอบคือถึงแม้ว่ามันเป็นร้านกิฟต์ช็อป แต่มันตั้งอยู่ในพื้นที่ซึ่งไม่ต้อนรับแขกสักเท่าไหร่ เป็นร้านที่ตั้งอยู่โดดเดี่ยวเพราะมิลเดรดก็เป็นตัวละครที่โดดเดี่ยว” นักออกแบบรายนี้กล่าว (นอกจากนี้สิ่งที่ปรากฏในร้านก็คือกระต่าย เป็นธีมซึ่งปรากฏในงานของแม็คดอนนามาตลอดอาชีพการทำหนัง)

ไม่ว่าเธอจะสร้างอะไรที่ไหน ไวน์เบิร์กรู้สึกดีใจที่ผู้คนในเมืองซิลวายินดีให้ใช้เมืองนี้เป็นฉากเมืองเอ็บบิง “ยิ่งเราถ่ายทำไป ผู้คนก็ยิ่งตื่นเต้นกันมากขึ้น แล้วก็เริ่มทำเสื้อและของที่ระลึกของตัวเองออกมา ผู้คนในเมืองซิลวาช่วยเป็นกำลังใจให้ทีมงานได้อย่างดีเลยค่ะ”

ในขณะเดียวกัน เมลิสซา ท็อธ ก็ได้เตรียมเสื้อผ้าให้กับเมืองเอ็บบิง ตั้งแต่รูปลักษณ์ย้อนยุคของเรดและพาเมลาไปจนถึงเครื่องแบบตำรวจประจำเมือง ท็อธเคยทำงานกับผู้กำกับนักสร้างสรรค์มามากมาย ไม่ว่าจะเป็นมิเชล กอนดรี ใน ETERNAL SUNSHINE OF THE SPOTLESS MIND จนถึงเคนเนธ โลเนอร์แกน ใน MARGARET และ MANCHESTER BY THE SEA แต่เธอกล่าวว่าในบรรดาผู้กำกับเหล่านี้ แม็คดอนนาดูโดดเด่นออกมา

“งานเขียนของเขามีเอกลักษณ์เฉพาะตัว” เธอให้ความเห็น “และสำหรับนักออกแบบเครื่องแต่งกาย ความท้าทายในงานของเขาก็คือลักษณะการพูดของตัวละครอาจไม่ได้สอดคล้องกับรูปลักษณ์ของตัวละครนั้น วิธีที่ฉันทำงานกับเขาคือการระดมไอเดียให้เขาไปแล้วรอดูผลตอบรับ บางครั้งเขาจะให้ข้อมูลบอกใบ้เกี่ยวกับตัวละครมาหนึ่งหรือสองข้อ เช่น เพลงที่ตัวละครชอบ แล้วฉันก็จะทำงานต่อจากตรงนั้น การเล่าเรื่องของเขาทั้งเข้มข้น ซับซ้อน และหม่นมืด แต่เขาเป็นคนที่ร่วมงานด้วยได้ง่าย ซึ่งนับเป็นส่วนผสมที่หาได้ยากค่ะ”

ขณะที่ชุดจัมพ์สูทของมิลเดรดเป็นเครื่องแต่งกายชิ้นหลัก ท็อธระบุว่า “เรื่องราวนี้เต็มไปด้วยตัวละครแปลกๆ เป็นงานที่รวมกลุ่มตัวละครจำนวนมาก งานเขียนของมาร์ตินเปิดพื้นที่ให้เรานำไปเล่นต่อได้เยอะ โลกที่เขาสร้างขึ้นมีความลึกซึ้งและลึกลับ และไม่มีอะไรจะสนุกไปกว่าการดำดิ่งลงสู่ความลึกลับผ่านการแต่งกายของตัวละครค่ะ”

สำหรับชุดเครื่องแบบตำรวจเมืองเอ็บบิงนั้น ท็อธอาศัยการศึกษาข้อมูลตำรวจในชนบท โดยเน้นไปที่ป้ายประดับบนเสื้อซึ่งทำให้เกิดความแตกต่าง เมื่อดิ๊กสันไม่ได้ทำงาน เธอให้เขาใส่แจ็คเก็ตสีเหลืองมัสตาร์ดซึ่งสะท้อนให้เห็นอย่างแนบเนียนว่ามีบางอย่างไม่ปกติเกี่ยวกับชายคนนี้ “เราจุ่มและย้อมเสื้อแจ็คเก็ตเพื่อให้ได้สีที่ถูกต้อง” ท็อธอธิบาย “ฉันชอบทำงานกับแซม เขาทำงานหนักมากแต่เวลารับบท กลับดูเหมือนเขาทำได้อย่างง่ายดาย”

ชุดโปรดของท็อธเป็นชุดที่เรียบง่าย นั่นคือเดรสลายดอกไม้โปร่งเบาที่แอนน์ ภรรยาของหัวหน้าวิลลาบีใส่ตอนไปปิกนิกและยังคงใส่อยู่เมื่อสถานการณ์ในวันนั้นเปลี่ยนแปลงไป “การที่แอบบีใส่ชุดนี้ทำให้คุณรู้สึกว่าเธอตักตวงทุกช่วงเวลาอย่างเต็มที่ การที่มันพลิ้วอยู่ในสายลมระหว่างไปปิกนิกเป็นช่วงเวลาหนึ่งที่เครื่องแต่งกายส่งผลต่องานภาพอย่างมาก”

สำหรับดนตรีประกอบหนัง แม็คดอนนาหันไปหาผู้ที่ร่วมงานด้านดนตรีกับเขาเป็นประจำ นั่นคือ คาร์เตอร์ เบอร์เวลล์ ผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์จากเรื่อง CAROL และยังเป็นที่รู้จักจากผลงานร่วมกับพี่น้องโคเอนและสไปค์ จอนซ์ด้วย หลังจากอ่านบท เบอร์เวลล์ได้เข้าไปสู่ความคิดจิตใจของผู้คนในเมืองเล็กๆ ซึ่งเขากล่าวไว้ว่า “ทุกคนรู้จักกันตั้งแต่อยู่โรงเรียน และบางส่วนของ

ความรุนแรง อคติ และความรักก็ยังสืบเนื่องไปจนกระทั่งโตเป็นผู้ใหญ่” ขณะที่เขาอ่านบทภาพยนตร์ แนวคิดทางดนตรีที่หลากหลายก็ผุดขึ้นมา ตั้งแต่เพลงอเมริกานาแบบคลาสสิกไปจนถึงเพลงคาวบอยแบบสปาเก็ตตีเวสเทิร์น

“ในตอนแรกผมก็นึกถึงเพลงประกอบแบบเซอร์จิโอ ลีโอเน เพราะเรามีตัวละครที่มีข้อบกพร่องและกำลังแสวงหาความยุติธรรมตามแบบของตัวเองในโลกที่ไร้ปราณี” เขาเล่า “สุดท้ายแล้วผมก็ไม่ได้มุ่งไปทางนั้นแต่ก็ยังมีลักษณะแบบนั้นหลงเหลืออยู่บ้าง”

การที่แนวทางของเรื่องนี้ไม่สามารถจัดประเภทได้นั้นตรงกับความถนัดทางดนตรีของเบอร์เวลล์พอดี “ผมชอบทำงานกับหนังที่มีหลายมิติและคำนี้ก็ใช้บรรยายถึงหนังเรื่องนี้ได้ดีที่สุด” เขากล่าว “ในแทบทุกฉากที่มีบางสิ่งเกิดขึ้น สิ่งตรงกันข้ามก็กำลังเกิดขึ้นด้วยเช่นกัน… ในฉากที่มีความรุนแรงก็ยังมีความเห็นอกเห็นใจ และในฉากที่มีความเห็นอกเห็นใจก็มีอารมณ์ขัน และผมคิดว่านั่นคือจุดแข็งของตัวผมในฐานะนักแต่งเพลง ผมชอบทำงานกับสิ่งที่ขัดแย้งในตัวเอง”

เบอร์เวลล์กล่าวต่อไปว่า “ผมมองว่าหน้าที่สำคัญของดนตรีก็คือให้คุณได้เข้าไปในใจของมิลเดรดและอยู่ข้างเธอ ดังนั้นจึงมีธีมหลักสามธีมในดนตรีประกอบของเรื่องนี้ คือ ใจของมิลเดรด มิลเดรดตอนออกรบ และความตาย ซึ่งเป็นเพลงธีมที่ใช้กับการที่มิลเดรดสูญเสียลูกสาวไป รวมถึงใช้กับตัวละครของวู้ดดี ฮาร์เรลสันด้วย”

เขากล่าวต่อไปว่า “ผมวางรากฐานให้ดนตรีมาจากเพลงโฟล์คแบบอเมริกันโดยนำกีตาร์อะคูสติกเข้าไปผสมผสานอยู่มาก แต่เพลงธีมออกรบของมิลเดรดแทบจะเหมือนเพลงมาร์ชของทหารซึ่งมีทั้งเสียงกลอง เสียงปรบมือ และเสียงกระทืบเท้า”

แต่เมื่อป้ายโฆษณาของมิลเดรดถูกเผา ฉากนั้นก็กลายเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ในการแต่งเพลงของเบอร์เวลล์ เพราะเขาต้องการสะท้อนดรามาโดยไม่บีบคั้นอารมณ์มากเกินไป “ผมใช้เวลาสักพักในการค้นหาดนตรีสำหรับฉากนั้น เพราะผมรู้สึกว่าต้องมีบรรยากาศของเหตุฉุกเฉิน ขณะเดียวกันก็มีความรุนแรงและความหดหู่แฝงอยู่ด้วย” เขาอธิบาย “ผมใช้แมนโดลิน กลอง และเครื่องสายผสมกัน และมันก็น่าพอใจในแง่ของการประสานดนตรีเข้ากับการแสดง”

เบอร์เวลล์ได้พัฒนาแนวทางของตัวเองในการทำงานร่วมกับแม็คดอนนา โดยทั้งสองแยกตัวออกจากเสียงภายนอกทั้งหมด “เราทำงานร่วมกันแบบตัวต่อตัวซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติทั่วไปในการทำหนัง” เขาระบุ “เราคุยกันอย่างละเอียดแค่สองคนและไม่มีคนอื่นเข้ามาในบทสนทนา ดังนั้นมันจึงเป็นการทำงานที่ใกล้ชิดเป็นส่วนตัว สำหรับเราทั้งคู่สิ่งสำคัญคือการนำเสนอความรู้สึกของมิลเดรดที่ผสมผสานกันระหว่างความโกรธเกรี้ยว ความอบอุ่น และการสูญเสีย”

ส่วนผสมที่ผันผวน และเส้นทางที่ลุกเป็นเพลิงผ่านเมืองเอ็บบิงไปนั้น คือสิ่งที่ทำให้หนังเรื่องนี้เป็นอย่างที่มันเป็น เกร- แฮม บรอดเบนต์ กล่าวว่า “เราคิดกันอยู่แล้วว่าเรื่องนี้จะออกมาตลก เพราะบนหน้ากระดาษมันตลกอยู่แล้ว และเราก็ได้นักแสดงที่ยอดเยี่ยมมาเล่น แต่ขณะที่เราทำหนัง มาร์ตินต้องคอยระมัดระวังเพื่อรักษาความเศร้าอันงดงามและความรักในความเป็นมนุษย์ในหนังเรื่องนี้ไว้ สิ่งนี้เองที่ช่วยยกระดับหนังเรื่องนี้” เขาให้ความเห็น

สำหรับแม็คดอนนา การเดินทางสู่แสงสว่างไม่ว่าจะริบหรี่หรือพร่ามัวเพียงใดนับเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะมันช่วยให้เขาเดินหน้าต่อไป “ผมคิดว่ามีความหวังบางอย่างอยู่ในหนังจากความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นของมิลเดรดและความถูกต้องดีงามของวิลลาบี” ผู้เขียนบทและผู้กำกับรายนี้สรุป “ฟรานเซสรับบทมิลเดรดออกมาได้อย่างน่าสะเทือนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยความหม่นมืดในจิตใจเธอและสถานการณ์ที่ไม่แน่นอนในสงครามของเธอ ผมหวังว่าผู้ชมจะประทับใจ ขำขัน และบางครั้งอาจรู้สึกโกรธ โดยหลักแล้ว ผมหวังว่าผู้ชมจะรู้สึกว่าได้ดูเรื่องราวที่เต็มอิ่มและค่อนข้างเกินความคาดหมาย”

ข้อมูลภาพยนตร์  Three Billboards Outside Ebbing, Missouri  – 3 บิลบอร์ด ทวงแค้นไม่เลิก