“เราทุกคนล้วนเป็นคนพิเศษและต่างไม่มีใครเหมือน”

ขอเชิญทุกท่านก้าวเข้าสู่โลกจินตนาการดังต้องมนต์สะกดของชายผู้ตั้งใจเผยให้เห็นว่าชีวิตอาจเป็นโชว์สุดตื่นเต้นเร้าใจ ด้วยแรงบันดาลใจจากเรื่องราวอันเป็นตำนานและความทะเยอทะยานของผู้อำนวยการแสดงอันเป็นต้นแบบในวัฒนธรรมป๊อปของอเมริกา พี ที บาร์นัม เกิดเป็นเรื่องราวเปี่ยมแรงบันดาลใจของนักฝันผู้กล้าซึ่งสร้างเนื้อสร้างตัวมาจากศูนย์เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าสิ่งที่เราวาดฝันล้วนเป็นไปได้ และไม่ว่าใครจะไร้ตัวตนสักแค่ไหน แต่ทุกคนล้วนมีเรื่องราวน่าทึ่งที่ควรค่าแก่การแสดงระดับโลก

ผู้กำกับชาวออสเตรเลีย ไมเคิล เกรซี รับงานกำกับภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกใน The Greatest Showman ด้วยพลังอันเปี่ยมล้นของบาร์นัม เรื่องราวนี้ได้โลดแล่นกลายเป็นเรื่องแต่งตามจินตนาการอันมีชีวิตชีวาด้วยเพลงป๊อปติดหู การเต้นรำสุดอลังการ และการเชิดชูพลังแห่งความเปลี่ยนแปลงจากการเป็นนักแสดง ความรัก และความเชื่อมั่นในตนเอง เกรซีร้อยเรียงเพลงที่แต่งขึ้นใหม่โดยผู้ชนะรางวัลออสการ์ เบนจ์ พาเซค และจัสติน พอล (La La Land) ร่วมด้วยทีมนักแสดงที่มีความสามารถหลากหลายและนำโดยผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ ฮิวจ์ แจ็คแมน เพื่อนำผู้ชมไปซึมซับต้นกำเนิดของธุรกิจบันเทิงและการเติบโตของเหล่าคนดังในยุค 70 …ซึ่งในที่นี้หมายถึงยุค 1870 ผลก็คือโอกาสที่จะได้เข้าสู่โลกอันน่ามีสีสันของอเมริกายุคทองหลังสงครามกลางเมือง โดยมองผ่านเลนส์ของวัฒนธรรมป๊อปร่วมสมัยซึ่งเพิ่งเริ่มจุติขึ้นในเวลานั้น

พี ที บาร์นัม มีชีวิตอยู่เมื่อกว่าร้อยปีที่แล้วก็จริง แต่ในสายตาของเกรซี เขาเป็นผู้เริ่มต้นยุคสมัยของเรา เขามองว่าบาร์นัมเป็นผู้บุกเบิกให้บรรดานักสร้างสรรค์และผู้ประกอบการยุคปัจจุบันที่ได้ก่อการปฏิวัติทางสังคม เทียบเท่ากับสตีฟ จ็อบส์ หรือเจย์ซีในยุคนั้น หนังเรื่องนี้เป็นห้วงคะนึงผ่านบทเพลง เป็นบทกวีแด่ความฝัน ไม่ใช่หนังชีวประวัติ แต่แก่นของหนังคือความเชื่อมั่นของบาร์นัมที่ว่าคุณสามารถก้าวพ้นความจำเจน่าเบื่อในชีวิตประจำวันมาสู่อาณาจักรแห่งความมหัศจรรย์ ความตื่นตาตื่นใจ และความสุขจากการเป็นคนแตกต่างได้อย่างภาคภูมิ เหนือสิ่งอื่นใด เกรซีหวังว่าจะเจาะลึกสู่ความรู้สึกเมื่อคนเราได้รับแรงบันดาลใจหรือการยอมรับ ในชั่วขณะที่ชีวิตดูคล้ายจะยิ่งใหญ่กว่าที่เคยนึกฝันไว้ เกรซีกล่าวว่า “เมื่อได้มาสัมผัสการแสดงของ พี ที บาร์นัม ผู้ชมจะได้เดินทางออกจากโลกธรรมดาสามัญ และในหนังเรื่องนี้เราก็พยายามทำเช่นเดียวกันด้วยแนวทางแบบร่วมสมัยครับ”

แจ็คแมนทุ่มเทเวลานานหลายปีเพื่อนำผลงานเรื่องนี้มาสู่จอภาพยนตร์ เขาบอกว่า “คงไม่เกินไปนักหากเราจะพูดว่าบาร์นัมเป็นผู้เริ่มต้นอเมริกายุคใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแนวคิดที่ว่าพรสวรรค์ จินตนาการ และความสามารถในการทำงานหนักควร

เป็นสิ่งตัดสินความสำเร็จ เขารู้ว่าทำอย่างไรจึงจะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ขึ้นมาจากศูนย์ รู้ว่าทำอย่างไรจึงจะเปลี่ยนมะนาวให้เป็นน้ำมะนาว ผมชอบคุณสมบัติข้อนี้มาตลอด เขาเดินตามทางของตัวเองและเปลี่ยนจุดด้อยให้กลายเป็นข้อดี หลายสิ่งหลายอย่างที่ผมใฝ่ฝันในชีวิตปรากฏอยู่ในตัวละครตัวนี้ครับ”

The Greatest Showman ยังได้พูดถึงแนวคิดอีกประการหนึ่งในยุคนั้น ว่าด้วยการรวมกลุ่มเป็นครอบครัวและเปิดโอกาสให้ผู้คนได้แสดงตัวตนออกมาโดยไม่ต้องปิดบังใดๆ “แนวคิดสำคัญในหนังเรื่องนี้ก็คือ ความร่ำรวยที่แท้จริงมาจากผู้คนรอบตัวคุณและคนที่รักคุณ” เกรซีกล่าว “บาร์นัมนำคนที่ถูกทิ้งขว้างไร้คนเหลียวแลมารวมกัน เขาช่วยให้คนเหล่านี้ได้ฉายแสงโดดเด่นออกมาและกลายเป็นครอบครัวที่จะคอยยืนอยู่เคียงข้างกันเสมอ ตามเหตุการณ์ในเรื่อง บาร์นัมเกือบจะต้องสูญเสียทั้งครอบครัวจริงและครอบครัวคณะละคร แต่คุณจะได้เห็นเขาค้นพบว่าสิ่งสำคัญที่สุดที่เขาสามารถทำได้ก็คือการนำครอบครัวทั้งสองกลับมารวมกันอีกครั้ง”

Twentieth Century Fox ขอเสนอ The Greatest Showman ผลงานการสร้างของ Laurence Mark/Chernin Entertainment นำแสดงโดยฮิวจ์ แจ็คแมน โดยมีไมเคิล เกรซีเป็นผู้กำกับ จากบทภาพยนตร์โดยเจนนี บิคส์และบิลล์ คอนดอน และเนื้อเรื่องโดยเจนนี บิคส์ ผู้อำนวยการสร้าง ได้แก่ ลอเรนซ์ มาร์ค, ปีเตอร์ เชอร์นิน และเจนโน ท็อปปิง ร่วมด้วยเจมส์ แมนโกลด์, โดนัลด์ เจ ลี จูเนียร์ และโทเนีย เดวิส ในฐานะผู้อำนวยการสร้างบริหาร นักแสดงร่วมกับแจ็คแมน ได้แก่ แซ็ค เอฟรอน ในบทฟิลลิป หุ้นส่วนของบาร์นัม, ผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์สี่ครั้ง มิเชลล์ วิลเลียมส์ ในบทแชริตี ภรรยาของบาร์นัม, รีเบคกา เฟอร์กูสัน ในบทดาราดังชาวสวีเดน เจนนี ลินด์ และเซนดายา ในบทนักแสดงกายกรรมราวโหน แอนน์ วีลเลอร์

ทีมงานเบื้องหลังที่นำงานสร้างหนังในยุคปี 2017 ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของธุรกิจบันเทิง ได้แก่ ผู้กำกับภาพที่เข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้วสองครั้ง เชมัส แม็คการ์วีย์, นักออกแบบงานสร้างผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์มาแล้วสามครั้ง นาธาน คราวลีย์ และผู้ออกแบบเครื่องแต่งกาย เอลเลน มิรอจนิค ดนตรีประกอบโดยนักแต่งเพลงผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ จอห์น เดบนีย์ และจอห์น ทราพาเนเซ

จากฝันกลายเป็นจริง

ปัจจุบันนี้เมื่อคุณนึกถึง ฟิเนียส เทย์เลอร์ บาร์นัม สิ่งแรกที่น่าจะผุดขึ้นมาในหัวก็คือโชว์สามเวทีสุดอลังการซึ่งเรียกชื่อตามชื่อของเขามานานแล้ว แต่ตำนานอันยิ่งใหญ่ของบาร์นัมไม่ได้มีเพียงแค่การพัฒนาคณะละครสัตว์เข้าสู่ยุคใหม่ (ที่ไม่ได้มีแต่การเดินพาเหรดของสัตว์ใกล้สูญพันธุ์และมนุษย์หน้าตาแปลกๆ แต่เป็นการแสดงอันสร้างสรรค์และอาศัยความแข็งแกร่งทางร่างกาย) เรื่องราวของบาร์นัมเป็นเรื่องราวคลาสสิกของนักบุกเบิกชาวอเมริกันผู้เด็ดเดี่ยว เขาถีบตัวเองจากภาวะสิ้นไร้ไม้ตอกจนกลายมาเป็นเจ้าแห่งศิลปะแขนงใหม่ว่าด้วยการสร้างภาพลักษณ์และการโฆษณาประชาสัมพันธ์ อีกทั้งยังเป็นเศรษฐีที่สร้างเนื้อสร้างตัวขึ้นมาด้วยตัวเองคนแรกของอเมริกา และเป็นเจ้าพ่อสื่อบันเทิงเพื่อมวลชนที่ช่วยนำพาจินตนาการให้โลดแล่น

เขาอาจเกิดมาโดยไม่มีใครรู้จัก แต่คนทั้งโลกจะได้รู้จักชื่อของเขา เมื่อ พี ที บาร์นัมจากไปในปี 1891 หนังสือพิมพ์ Washington Post กล่าวถึงเขาว่าเป็น “ชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดเท่าที่เคยมีมา”

ในเวลาต่อมา บาร์นัมถูกนำไปอ้างผิดๆ ว่าเป็นเจ้าของคำกล่าวอันโด่งดังที่ว่า “มีคนโง่เกิดขึ้นมาทุกนาที” ซึ่งเขาไม่เคยพูด แต่เขาเคยพูดว่า “ไม่ว่าคุณจะทำอะไร จงทำให้เต็มกำลัง” สิ่งนี้เองที่เป็นเสน่ห์ดึงดูดของบาร์นัมในยุคนั้น เขาเป็นตัวแทนของความกล้าเสี่ยงและพร้อมรับสถานการณ์อันเป็นจิตวิญญาณในยุคสมัยแห่งการเปลี่ยนแปลง เขายังได้กรุยทางให้อนาคตเมื่อภาพยนตร์ การแสดงบนเวที และเทคโนโลยีดิจิตัลได้รับช่วงต่อจากเขาในการทำให้สิ่งที่ดูคล้ายเพ้อฝันและเป็นไปไม่ได้ให้กลายเป็นความจริงที่เอื้อมถึงได้ขึ้นมา จึงไม่น่าแปลกใจที่เรื่องราวและบุคลิกของเขาเป็นแรงบันดาลใจให้ภาพยนตร์หลายเรื่อง โดยมีนักแสดงหลายคนมารับบทบาทเป็นบาร์นัม ไม่ว่าจะเป็นวอลเลซ เบียรี ใน The Mighty Barnum เมื่อปี 1934, เบิร์ล ไอฟ์ส ใน Jules Verne’s Rocket to the Moon เมื่อปี 1967 และเบิร์ต แลงคาสเตอร์ใน Barnum เมื่อปี 1986

ทว่าในช่วงหลายทศวรรษมานี้ อิทธิพลอันโดดเด่นชัดเจนยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ของ พี ที บาร์นัม ก็ยังไม่ได้รับการนำมาตีความใหม่ ผู้อำนวยการสร้าง ลอเรนซ์ มาร์ค และผู้ร่วมเขียนบท บิลล์ คอนดอน คิดเรื่องนี้ขึ้นมาได้เมื่อปี 2009 ระหว่างที่ทั้งสองทำงานร่วมกันในงานประกาศรางวัลออสการ์ โดยมีฮิวจ์ แจ็คแมนเป็นผู้ดำเนินรายการ ความหลงใหลของแจ็คแมนต่อการสร้างโชว์ซึ่งมีสีสันสุดอลังการนั้นชวนให้ทั้งสองนึกถึงบาร์นัม

มาร์คเล่าถึงการดูแจ็คแมนทำงานว่า “ผมคิดว่า ว้าว คนคนนี้เป็นโชว์แมนที่เยี่ยมที่สุดในโลกเลย ตอนนั้นเองที่ผมนึกถึง พี ที บาร์นัมขึ้นมา ฮิวจ์เป็นเพียงคนเดียวบนโลกใบนี้ที่เป็นได้ทั้งวูลฟ์เวอรีนและพี ที บาร์นัม มีบางอย่างในดีเอ็นเอของฮิวจ์ที่ช่วยให้เขาก้าวขึ้นเวทีแล้วครองเวทีได้อย่างง่ายดาย เป็นธรรมชาติ และมีเสน่ห์ดึงดูด ผมเสนอกับเขาว่าเราน่าจะทำหนังมิวสิคัลเกี่ยวกับบาร์นัม และปรากฏว่าเขาก็เห็นด้วยกับแนวคิดนี้เต็มที่เลยครับ”

ข้อเสนอครั้งนั้นส่งผลสำคัญอย่างยิ่ง แต่ก็ต้องใช้เวลาถึงเจ็ดปีและผ่านจุดหักเหหลายครั้งกว่าแนวคิดที่สุ่มเสี่ยงนี้จะกลายมาเป็นความจริงในรูปของงานสร้างฟอร์มใหญ่อันครบสมบูรณ์ด้วยบทเพลง ท่าเต้น และดาราชั้นนำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่ยากจะหาหนังมิวสิคัลซึ่งครองใจผู้ชมในยุคศตวรรษที่ 21 กระบวนการเริ่มต้นขึ้นจากบทภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาอัดแน่นของเจนนี บิค ร่างบทดังกล่าวได้สำรวจยุคสมัยที่บาร์นัมเติบโตขึ้นมาจนมีชื่อเสียงโด่งดัง นับตั้งแต่วัยเด็กที่เขาอาศัยอยู่อย่างแร้นแค้นในคอนเน็กติกัต เรื่องราวความรักกับแชริตี ภรรยาซึ่งมีฐานะดีกว่าเขามาก การก่อตั้งพิพิธภัณฑ์อเมริกันของบาร์นัม ไปจนถึงการปั้นหนึ่งในซูเปอร์สตาร์คนแรกๆ ของโลกอย่างเจนนี ลินด์ ผู้มีฉายานามว่า “ไนติงเกลสวีเดน”

บทภาพยนตร์ของบิคเป็นจุดเริ่มต้นที่เปี่ยมด้วยแรงบันดาลใจ แต่เพื่อให้สอดคล้องกับการที่บาร์นัมชื่นชอบความโลดโผนและความอลังการ ทีมผู้สร้างหนังจึงตัดสินใจมองหาเรื่องราวที่เน้นดนตรีและการแสดงมากยิ่งขึ้น ในตอนนั้นเองที่แจ็คแมนเสนอให้มาร์คลองติดต่อเพื่อนของเขา บิลล์ คอนดอน ผู้มีชื่อเสียงจากการเขียนบทภาพยนตร์ดัดแปลงเรื่อง Chicago และ Dreamgirls เพื่อใช้ประโยชน์จากพรสวรรค์ด้านการเขียนของเขาในการสร้างภาพยนตร์มิวสิคัลยุคดังกล่าว

ระหว่างนั้นแจ็คแมนได้พบไมเคิล เกรซี ซึ่งเริ่มมีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็วในฐานะผู้กำกับภาพยนตร์โฆษณาและมิวสิกวิดีโอที่สร้างสรรค์และท้าทายกรอบเดิมๆ แจ็คแมนตั้งใจว่าอยากทำงานกับเขาในหนังสักเรื่อง และเขามั่นใจว่าแนวคิดของ The Greatest Showman นั้นเหมาะสมอย่างยิ่งกับเกรซี ความจริงข้อนี้ยิ่งปรากฏชัดเมื่อเกรซีเริ่มนำเสนอโครงการภาพยนตร์อันทะเยอทะยานนี้ในแวดวงฮอลลีวู้ดด้วยความกระตือรือร้นซึ่งแม้แต่บรรดาผู้บริหารที่เหนื่อยหน่ายก็ยังต้องตื่นเต้นไปด้วย

แจ็คแมนกล่าวว่า “ไมเคิลนำเสนอความแปลกใหม่ในแง่ดนตรีและการเล่าเรื่อง เขากลายเป็นคนที่น่าจับตามองไปแล้ว และถึงแม้ว่าตอนนั้นเขายังไม่ได้ทำหนังออกมา แต่ทุกคนก็รู้จักเขา อีกอย่างหนึ่งตอนที่ไมเคิลนำเสนอเรื่องราวของ The Greatest Showman เขาก็เล่าเรื่องได้เก่งกว่าตอนที่ผมเล่นเป็นพี ที บาร์นัมซะอีก ไมเคิลมีวิสัยทัศน์ที่น่าทึ่ง ขณะเดียวกันเขาก็มีความเด็ดเดี่ยวมุ่งมั่นอย่างที่ผมไม่เคยพบเคยเห็นมาก่อนเลย เขาไม่มีทางไปทำอย่างอื่นได้นอกจากทำหนังเรื่องนี้เท่านั้นครับ”

เกรซีใช้เวลานาน 45 นาทีในการเล่าเรื่องราวอย่างมีชีวิตชีวา รวมถึงนำเสนอภาพคอนเซ็ปต์และบทเพลงอันละเอียดประณีต จนเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาได้รับความไว้วางใจอย่างสูงจากผู้อำนวยการสร้าง อันได้แก่ ลอเรนซ์ มาร์ค รวมถึงปีเตอร์ เชอร์นิน และเจนโน ท็อปปิงจาก Chernin Entertainment “ไมเคิลทำการบ้านมาอย่างน่าประทับใจ เขามีภาพร่างและตัวอย่างงานภาพมาเรียบร้อยแล้ว และเขาก็พูดถึงหนังเรื่องนี้ด้วยความหลงใหลทุ่มเท” มาร์คกล่าว

ที่เกรซีเข้ากับหนังเรื่องนี้ได้อย่างพอเหมาะพอเจาะส่วนหนึ่งเป็นเพราะว่าตัวเขาเองก็มีความเชื่อตรงกันกับบาร์นัมว่าเราควรคั้นความตื่นเต้นในชีวิตออกมาให้มากที่สุด “ผมมักจะพูดเสมอว่าช่วงเวลาที่น่าเศร้าที่สุดในชีวิตของเด็กคนหนึ่งก็คือตอนที่ได้รู้จักคำว่า ‘เป็นไปไม่ได้’” ผู้กำกับรายนี้กล่าว “เรื่องราวของบาร์นัมพูดถึงการไม่จำกัดจินตนาการของตนเอง การใช้สมองของคุณสร้างโลกใบใหม่ขึ้นมา ซึ่งนั่นก็เป็นสิ่งที่ผู้กำกับทำกัน เราคิดอะไรขึ้นมาสักอย่าง จากนั้นก็ใช้เวลานานหลายปีสร้างมันให้กลายเป็นจริง ผ่านกระบวนการที่อาจทำให้คุณต้องเหนื่อยใจแต่ก็ช่วยให้คุณได้สร้างความฝันให้มีชีวิตขึ้นมา”

เกรซียังได้รับแรงผลักดันจากภาพอันแจ่มชัดที่เขาคิดไว้สำหรับภาพยนตร์เรื่องนี้ด้วย โดยเป็นการผสมผสานอดีตและอนาคตในรูปแบบสตีมพังค์ซึ่งทำให้เรื่องราวของบาร์นัมอยู่เหนือกาลเวลา เป็นโลกสากลที่วัฒนธรรมป๊อป เรื่องราวโรแมนซ์ และความผูกพันระหว่างมนุษย์เป็นแก่นสำคัญ เขาต้องการความสมจริงอยู่บ้าง แต่ก็มองว่าหนังทั้งเรื่องควรแทรกด้วยบรรยากาศความน่าอัศจรรย์ใจคล้ายในหนังสือนิทาน เพื่อนำเราย้อนกลับไปสู่ภาพเงาแห่งจินตนาการที่เป็นแรงบันดาลใจให้มนุษย์ระงับความกังขาของตน

อีกสิ่งหนึ่งซึ่งสำคัญยิ่งต่อแนวทางของเกรซีก็คือกลุ่มคนที่เรียกกันว่า ดิ ออดดิตีส์ (The Oddities) หรือนักแสดงโชว์ผู้มีสภาพร่างกายไม่ธรรมดาในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งบาร์นัมได้เชื้อเชิญให้ผู้ชมมาสัมผัสตำนานที่มีชีวิตเหล่านี้ แม้ว่าการแสดงลักษณะดังกล่าวอาจไม่เป็นที่ยอมรับในสังคมปัจจุบัน เกรซีได้สำรวจประสบการณ์อีกด้านหนึ่งของนักแสดงในโชว์ของบาร์นัม นั่นก็คือโอกาสที่จะได้หลุดพ้นจากชีวิตชายขอบที่ต้องหลบๆ ซ่อนๆ โอกาสที่จะเรียกเสียงชื่นชมและสร้างความภาคภูมิใจในตนเอง และเหนือสิ่งอื่นใดก็คือความสามารถที่จะตั้งคำถามว่าเรากำหนดนิยามคำว่า “ปกติ” เอาไว้คับแคบเพียงใด “ดิ ออดดิตีส์ เป็นกลุ่มคนที่สังคมไม่เคยเห็น พวกเขาต้องหลบซ่อนอยู่ในมุมมืด” เกรซีอธิบาย “สิ่งที่พี ที บาร์นัมทำก็คือช่วยให้บุคคลล่องหนเหล่านี้

ได้ปรากฏตัวออกมาและมีโอกาสที่จะได้รับความรักความชื่นชม เขาเล่าเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ซึ่งนำเสนอว่าคนเหล่านี้ไม่ได้บกพร่องแต่เป็นบุคคลพิเศษ ผมคิดว่าผู้ชมจะชอบดิ ออดดิตีส์ เพราะสุดท้ายแล้วเราทุกคนก็ล้วนมีความแปลกประหลาดในตัวเองเหมือนกันครับ”

เขาเน้นว่า “ในบทมีตอนหนึ่งที่บาร์นัมพูดว่า ‘ไม่มีใครสร้างความแตกต่างได้ด้วยการทำตัวเหมือนคนอื่น’ สำหรับผมแล้วนี่ล่ะครับที่เป็นหัวใจสำคัญของหนังเรื่องนี้”

ดิ ออดดิตีส์ ดึงดูดความสนใจของแซ็ค เอฟรอน เขากล่าวว่า “ผมชอบที่บาร์นัมมีความรักและความฝันให้ครอบครัว แต่แล้วเขาก็ตั้งคำถามว่าเราจะแจกจ่ายความรักไปให้ไกลกว่านี้ได้อย่างไร เขาทำได้ด้วยการรับคนที่ไม่ได้รับการยอมรับจากสังคมเพราะรูปลักษณ์ภายนอกหรือสิ่งที่ติดตัวมาแต่กำเนิดและช่วยให้คนเหล่านี้ได้รับการยกย่องและได้สื่อสารกับผู้อื่น เขาให้โอกาสคนเหล่านี้ได้แสดงให้เห็นว่าไม่ว่าคุณจะเป็นใครมาจากไหน เราก็ไม่ได้แตกต่างกันมากขนาดนั้น เราทุกคนต่างเป็นมนุษย์ที่ต้องต่อสู้ บาร์นัมช่วยให้นักแสดงทุกคนในโชว์ของเขาได้ภาคภูมิใจในตนเอง”

หลังจากคอนดอนได้เพิ่มมิติใหม่อันสมบูรณ์ให้บทภาพยนตร์ ก็มีองค์ประกอบสำคัญเพียงประการเดียวที่ขาดไป นั่นคือบทเพลงที่จะช่วยถ่ายทอดอารมณ์ซึ่งไม่อาจบรรยายออกมาได้หมด สำหรับเกรซี การหาเพลงที่เหมาะสมมีความสำคัญอย่างยิ่ง “เหตุผลที่ผมชอบงานมิวสิคัลก็คือเมื่อการใช้คำพูดไม่เพียงพออีกต่อไป คุณก็จะเริ่มร้องเพลงออกมา ในจุดตกต่ำที่สุด เมื่อคุณสูญสิ้นทุกสิ่งทุกอย่าง คุณก็จะร้องเพลงออกมา และในจุดสูงสุดเมื่อมีความสุขเกินกว่าจะแสดงออกมาได้หมด คุณก็จะเริ่มร้องเพลงออกมาเหมือนกัน เรารู้ว่าเราต้องการเพลงที่เหมาะกับจุดสูงสุดและจุดต่ำสุดทางอารมณ์ในโลกที่พิเศษสุดนี้” เกรซีอธิบาย

เกรซีตระหนักว่าบทเพลงอาจไม่ต้องตรงกับยุคสมัยในเรื่อง แทนที่จะย้อนเวลากลับไป เขาต้องการเพลงที่ช่วยให้ตัวละครและสถานการณ์ดำรงอยู่ในช่วงเวลา ณ ตอนนั้น หลังจากฟังตัวอย่างเพลงจากนักแต่งเพลงหลายสิบราย ทีมงานก็ตกหลุมรักผลงานของนักแต่งเพลงสองคนซึ่งยังเป็นนักแต่งเพลงหน้าใหม่ในขณะนั้น นั่นก็คือเบนจ์ พาเซค และจัสติน พอล การตัดสินใจนี้เกิดขึ้นก่อนที่ละครเรื่อง “Dear Evan Hanson” ของทั้งสองจะออกแสดงเป็นเวลานาน และก่อนที่ทั้งสองจะชนะรางวัลออสการ์จากผลงานใน La La Land นานหลายปี แต่สิ่งที่พาเซคและพอลนำเสนอนั้นคือเพลงป๊อปที่เร้าอารมณ์และมีชีวิตชีวา ซึ่งสามารถเปิดทางวิทยุในปี 2017 ได้ “เบนจ์และจัสตินแสดงความสามารถที่หาตัวจับยากในการผสมผสานดนตรีร็อค ป๊อป และซาวด์ร่วมสมัยของบรอดเวย์เข้าด้วยกัน” มาร์คกล่าว

เกรซีเสริมว่า “สำหรับผม สิ่งที่เบนจ์และจัสตินสร้างขึ้นมาเพื่อหนังเรื่องนี้เป็นผลงานที่ดีที่สุดเท่าที่พวกเขาเคยทำมา ซึ่งงานที่พวกเขาเคยทำมาก็น่าทึ่งทั้งนั้นนะครับ พวกเขาผสมผสานดนตรีร่วมสมัยกับดนตรีคลาสสิกเข้าด้วยกันได้อย่างกลมกลืน พวกเขาได้ช่วยให้หนังเรื่องนี้มีชีวิตจิตใจ ถ่ายทอดอารมณ์ที่พลิกผันทั้งแง่บวกและแง่ลบ พวกเขาแสดงจิตวิญญาณของหนังได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพลงที่พวกเขาเขียนขึ้นมานำคุณไปสัมผัสความรู้สึกบางอย่างเสมอ และแต่ละเพลงก็เป็นการเล่าเรื่องในตัวมันเอง”

ดนตรีก็เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ช่วยดึงดูดนักแสดงด้วย ศิลปินผู้บันทึกเสียงและนักแสดง เซนดายา ซึ่งรับบทเป็นนักแสดงกายกรรมราวโหน แอนน์ วีลเลอร์ กล่าวว่า “เบนจ์และจัสตินยังหนุ่มและมีไอเดียที่สดใหม่ เพลงเหล่านี้ยอดเยี่ยมตรงที่ว่าถึงแม้เรื่องราวของเราจะเกิดขึ้นในยุค 1800 แต่งานของพวกเขากลับให้ความรู้สึกร่วมสมัย ซึ่งฉันคิดว่าทำให้มันจับต้องได้สำหรับคนยุคปัจจุบัน ดนตรียังได้ช่วยเพิ่มความมหัศจรรย์ให้หนังด้วย เพราะคุณอยู่ในงานย้อนยุค แต่ก็ยังมีเพลงป๊อปและการเต้นแบบฮิพฮอพ ซึ่งฉันคิดว่ามันเจ๋งจริงๆ มันช่วยผสมผสานยุคสมัยของบาร์นัมกับของเราเข้าด้วยกัน ฉันมองว่าบทเพลงทุกๆ ช่วงสะท้อนถึงจิตวิญญาณของหนังเรื่องนี้”

เกรซีรู้สึกขอบคุณที่ทุกคนทุ่มเทเต็มที่ ตั้งแต่ทีมนักแสดงไปจนถึงนักแต่งเพลง นักดนตรี และทีมงานเบื้องหลังที่ไม่เคยหยุดพัฒนารายละเอียดสำคัญ คนเหล่านี้ช่วยให้ความฝันของเขากลายเป็นจริง ซึ่งความฝันนั้นก็มีพื้นฐานมาจากความฝันของบาร์นัมนั่นเอง “การทำหนังมิวสิคัลขึ้นมาใหม่ตั้งแต่ต้นเป็นเรื่องที่บ้ามากครับ” เกรซีหัวเราะ “แต่สิ่งหนึ่งที่ผมระลึกถึงอยู่เสมอก็คือผู้คนที่ตกลงใจมาช่วยกันสร้างฝันที่เป็นไปไม่ได้นี้ขึ้นมา คนที่เชื่อมั่นในความฝันนี้และช่วยสร้างมันให้มีชีวิต”

 

 “The Greatest Showman – โชว์แมนบันลือโลก”

เปิดรอบพิเศษ 25 – 27 ธันวาคม 2560 (รอบ 20.00 น. เป็นต้นไป)
ฉายจริง 28 ธันวาคม ในโรงภาพยนตร์
ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://www.facebook.com/GreatestShowmanMovieThailand/