อำนวยการสร้างโดย ธนากร ปุลิเวคินทร์, ฐิตาภัสร์ อิสราพรพัฒน์,

พรชัย ว่องศรีอุมพร

ดำเนินการสร้างโดย บริษัท โป้งชี้กลางนางก้อย จำกัด, บริษัท แม่เรียงฟิล์ม จำกัด

ควบคุมการสร้างโดย ปิยะลักษณ์ มหาธนทรัพย์, อาทิตย์ ศรีภูมิ, ภาคภูมิ วงศ์จินดา

จัดจำหน่ายโดย บริษัท เอ็ม พิคเจอร์ส จำกัด

แนวภาพยนตร์ โรแมนติก แฟนตาซี

กำหนดฉาย 1 พฤศจิกายน 2561

เรื่องโดย เอกชัย ศรีวิชัย

บทภาพยนตร์ ภาคภูมิ วงศ์จินดา

กำกับภาพ จิระเดช สำเนียงเสนาะ

ออกแบบงานสร้าง นพพร เกิดศิลป์

ออกแบบเครื่องแต่งกาย THEE-SI COUTURE

ผู้กำกับภาพยนตร์ เอกชัย ศรีวิชัย

นำแสดงโดย เอกชัย ศรีวิชัย, ไพศาล ขุนหนู, อรรถพงษ์ สงแก้ว (บอล วง วงกลม), สน-สนธยา ชิตมณี (สน เดอะสตาร์) และขอแนะนำนางเอกใหม่ “เจด-แองเจลิน่า โฟรม็องโต้” (แชมป์นักกีฬาขี่ม้าเยาวชนแห่งประเทศไทย)

ร่วมด้วยศิลปินโนราห์ชื่อดัง

อ้อมจิต เจริญศิลป์, ละมัยศิลป์ อ.หาดใหญ่, นกน้อย เสียงเสน่ห์, สายทิพย์ เสน่ห์ศิลป์, สุนันทา ดาราศิลป์, สมพงศ์น้อย ศ.สมบูรณ์ศิลป์, ศรีธน ธนชัย, น้องกฤต ธนชัย

ภาพยนตร์รักเรื่องล่าสุด ผลงานการกำกับภาพยนตร์โดย “เอกชัย ศรีวิชัย”

เรื่องราวของ นอร์ร่า (เจด-แองเจลิน่า ฟอร์เมนโต้) สาวลูกครึ่งน่ารัก ทันสมัย เดินทางตามพ่อแม่มาทำธุรกิจที่จังหวัดพัทลุง แต่ระหว่างที่เธอสัมผัสกับความสวยงามตามธรรมชาติอยู่นั้น เธอได้เจอกับเรื่องราวประหลาด ทำให้ข้ามมิติกาลเวลาไปยังอดีต และได้พบกับ สิงหร (ไพศาล ขุนหนู) ชายหนุ่มรูปงาม พร้อมเรื่องราวสุดอัศจรรย์ของตำนาน โนราห์ ที่ทำให้คน 2 ภพ มาบรรจบพบกัน ผ่านการผจญภัย เหตุการณ์ต่าง ๆ จนเกิดเป็นความผูกพันและกลายเป็น ความรัก ที่เป็นตำนาน…

เอกชัย ศรีวิชัย ผู้กำกับภาพยนตร์

พระยาสายฟ้าฟาด

ชายวัยหกสิบกว่าเป็นเจ้าเมืองสทิงปุระนครที่ยิ่งใหญ่โปรดปรานการฟ้อนรำศิลปะวัฒนธรรม ยึดมั่นในจารีตประเพณี ดำรงอยู่ในทศพิธราชธรรม

ทำไมเลือกเรื่อง มโนราห์ มาทำเป็นภาพยนตร์?

– ในชีวิตพี่ คือ เกิดที่ใต้ โตมาในโรงมโนราห์ โตมากับหนังตะลุง ตั้งแต่เด็กๆแล้ว เราก็ได้ยินเสียงพ่อร้องกลอนหนังตะลุง ร้องกลอนมโนราห์ ท่านก็ฝึกให้เราเล่นให้เราทำ พอวันหนึ่งเรามาโลดแล่นในวงการบันเทิง เป็นศิลปินนักร้อง แทนที่เราจะได้เป็นผู้สืบทอดวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านั้น เราก็เสียเวลานั้นไป เรากลายมาเป็นคน

สาธารณะ แล้วได้เอาวัฒนธรรมท้องถิ่นมาใส่ในเพลง แต่นั่นก็คืองานในสายนักร้อง แต่ว่าเมื่อไหร่ที่เราได้มีโอกาสได้เข้าไปในวงการภาพยนตร์ซึ่งเป็นความฝันตั้งแต่เด็กอยู่แล้ว สื่อภาพยนตร์ก็ไม่เคยมีใครทำเรื่องแบบนี้ แล้วมันทำผ่านองค์ประกอบที่เรารู้ที่เรามีอยู่ในเส้นเลือด อีกอย่างคือ ถ้าพี่ไม่ทำตอนนี้ ตอนที่ยังมีทุกอย่าง มีสุขภาพแข็งแรง มีคอนเนคชันหรือมีพาวเวอร์ที่จะทำงานนี้ได้ แล้วไม่ทำ ถ้าตายไป ก็ไม่รู้จะไปบอกบรรพบุรุษปู่ยาตายในสายมโนราห์ของเรายังไง เพราะงั้นต้องนำเสนอสิ่งที่เป็นตัวตนชัดเจน รากเหง้าคืออะไร และสำคัญคือ ความสวยงามของมันคืออะไร มันจะถูกส่งออก(ถ่ายทอดต่อ)ยังไง สิ่งเหล่านี้มันควรถูกนำมาสื่อในภาพยนตร์ แต่ผ่านคำว่าบันเทิง

ยกตัวอย่างหนังเรื่อง เทริด ภาคแรก ที่มันทำออกมาแล้วสนุกมาก เพราะมันไม่ได้ผ่านการขับร้องที่เป็นการเล่นการรำที่มันเป็นวัฒนธรรมจ๋า แต่มันเล่าเรื่องผ่านชีวิตวัยรุ่น และผู้ใหญ่ที่อยากให้วัยรุ่นสืบทอด(วัฒนธรรมท้องถิ่น) ส่วนวัยรุ่นก็ตั้งคำถามกลับว่า “ ทำไมมึงบังคับกูจัง?” ให้กูสืบทอดนี่มันเรื่องอะไร? นี่คือเส้นเรื่องของหนังเรื่องเทริด ซึ่งมันก็ตีโจทย์แตกไปแล้ว เด็กวัยรุ่นในเรื่องนั้นมันก็เข้าใจแล้วว่า “อ๋อ ผู้ใหญ่คิดอย่างนี้ เด็กก็เข้าใจแล้วว่า ตัวตนของตัวเองคือสิ่งที่สำคัญที่สุด และรากเหง้านี่แหละคือตัวตนของเรา”

พอมาทำเรื่อง โนราห์ พี่อยากให้ทุกคนรู้ลึกไปมากกว่านั้น ว่า โนราห์ หรือมโนราห์นี่คืออะไร มันเป็นยังไง มีที่มายังไง แต่เสนอผ่านความบันเทิง

เมื่อคุณได้เสพความบันเทิงผ่านเส้นเรื่องราวความรักวัยรุ่นของคู่หนุ่มสาวที่ ฝ่ายหญิงเป็นเด็กลูกครึ่งฝรั่ง ไม่เคยรู้จักมโนราห์ พูดไทยไม่ชัดเสียด้วยซ้ำ แต่เมื่อลงไปเห็นว่า ความเป็นมา และย้อนไปอดีต ได้เห็นว่าถ้าคุณไปเปลี่ยนอดีต มันก็จะมีผลถึงปัจจุบันเปลี่ยนไปอย่างนี้ เมื่อไม่มีอดีตที่สืบทอดกันมา ปัจจุบันก็จะไม่น่ามอง จะมีคำถามและคำตอบให้เสร็จสรรพในภาพยนตร์เรื่องนี้

เราจะเห็นได้เลยว่า ถ้าโลกไม่มี(ศิลปะ)วัฒนธรรม มันอยู่ไม่ได้นะ เราอยู่ไม่ได้ มันน่ากลัวมาก และใช้คำว่าน่าเกลียด เพราะงั้น คนที่มีวัฒนธรรมอยู่แล้ว แต่ไม่รักมันนี่ มันน่าเสียดายนะ

ในหนัง มโนราห์ เรามีทั้งสาระและสอดแทรกไว้ในทุกอณูของความสนุก แน่นอนการที่คุณเข้าไปชม คุณต้องสนุก ต้องบันเทิง คุณได้หัวเราะ ได้ฮา ได้ร้องไห้ แต่ร้องไห้แล้วได้รับสาระที่ถูกสอดแทรกไว้ นั่นคือสิ่งที่คนทำหนังตั้งใจและประดิษฐ์มันไว้ตรงนี้ ให้คนดูได้เห็นว่า อ้าวเหรอ ของพวกนี้ มันเป็น(สมบัติ)ของพวกเรานี่

เรื่องราวของหนัง “โนราห์” เป็นยังไงบ้าง

– เป็นเรื่องของเด็กวัยรุ่น(นางเอก) พ่อแม่รวย มาซื้อบ้านและที่ดินที่เคยเป็นของคณะโนราห์เก่า ซื้อแล้วจะทุบทิ้งเพื่อทำเป็นรีสอร์ท และรื้อวัฒนธรรมตรงนั้นไปเป็นโรงแรมใหญ่ แต่นางเอกเก็บยอด เทริด(เครื่องประดับบนศรีษะในการแสดงมโนราห์รูปทรงคล้าย ชฎา) ได้ และทำให้ย้อนกลับไปสู่โลกอดีตเมื่อ พ.ศ.1012 ยุคสมัยของเมืองสทิงปุระ แคว้นเวียงกลาง-บางแก้ว ซึ่งก็คือดินแดนจังหวัดพัทลุงในปัจจุบัน นางเอก

ย้อนกลับไปยุคอดีต ได้เจอกับ พระยาสายฟ้าฟาด ได้เจอกับ ขุนศรัทธา ตอนวัยรุ่น (พระเอก) และ นวลทองสำลี ได้เจอกับ ต้นกำเนิดมโนราห์ แล้วนางเอกก็เดินทางย้อนเวลากลับไปกลับมาระหว่างอดีตกับปัจจุบัน ทีนี้เรื่องราวในอดีตสมัยนั้น ตามตำนานกำเนิดมโนราห์ คือผู้จะเป็นโนราห์ในวังหลวงต้องประพฤติพรหมจรรย์ ปัจจุบันนี้ ก็ยังสืบสานตำนานนี้มา ในการแสดงโนราห์ ผู้ที่จะสวมเทริดได้ในคณะต้องเป็นผู้ประพฤติพรหมจรรย์เท่านั้น และในหนังเรื่องราวก็บอกว่า นางเอกซึ่งไปพบรักกับขุนศรัทธา(พระเอก) โนราห์ในสมัยนั้น พอรักกันพระเอกก็ไม่ยอมไปเป็นโนราห์ พอนางเอกกลับมาสู่โลกปัจจุบัน ก็ไม่มีวัฒนธรรมนั้นอยู่ เรื่องราวคู่รักนี้เราแต่งขึ้นมาใหม่นะ ไม่มีในตำนาน และเราก็สอดแทรกตำนานไว้ด้วย เหมือนเรื่อง Titanic ที่แต่งเรื่องความรักของ jack กับ rose ขึ้นมา ประมาณนั้น

ส่วนตำนานที่ใส่ไว้ในหนัง ก็เป็นประวัติกำเนิดโนราห์ ที่คนในแวดวงมโนราห์ต้องเรียนรู้ แต่ว่าแต่ละตำราที่เขียนถึงตำนาน ก็จะเขียนไม่เหมือนกันนะ ผมเลือกเอาฉบับที่พ่อขุนอุปถัมภ์นรากรเขียนมาใช้ เพราะว่าผมเชื่อพ่อขุนฯ เพราะท่านเป็นคนพัทลุงแท้ ๆ ขณะที่ ท่านอื่น ๆ ที่เขียน ก็ไม่ใช่คนพัทลุง ผมเลือกที่จะเชื่อพ่อขุนฯเพราะเป็นคนท้องถิ่นจริง ๆ

นอกจากจะเป็นผู้กำกับภาพยนตร์แล้ว ยังร่วมแสดงด้วย

– ครับ รับบท พระยาสายฟ้าฟาด จริง ๆ เรื่องการแสดง ตัว พระยาสายฟ้าฟาด ค่อนข้างที่จะหาคนมาเล่นค่อนข้างยาก เพราะเนื่องจากเป็นคาแรคเตอร์เฉพาะตัวของตัวละครตัวนี้ เรื่องนี้พี่เป็นผู้กำกับ เราจะรู้ตัวละครแต่ละตัวว่าใครจะใช่ ไม่ใช่ ตัวนี้ก็เลยถือโอกาสเล่นเอง เป็นเจ้าเมือง แคว้นเวียงกลางบางแก้ว เป็นกษัตริย์ที่รักการร่ายรำ ชอบดูการร่ายรำ ชอบดูนาฏศิลป์ พยายามที่สรรหาคนที่รำเก่ง ๆ คนที่มีความสามารถเกี่ยวกับเรื่องนาฏศิลป์ เพื่อมาเป็นนาฏศิลป์หลวง แม้กระทั่งลูกสาวของตัวเอง พระธิดานวลทองสำลี ก็พยายามที่จะเอาไปเรียนรำ เรียนร้อง เรียนฝึกฝน การร้อง การรำ เพื่อจะให้ลูกเป็นนาฏศิลป์หลวง แต่ก็มีเหตุการณ์ให้พลัดพรากจากกันไป

ทำไมถึงเลือกใช้นางเอกใหม่ (“เจด-แองเจลิน่า ฟอร์เมนโต้” แชมป์นักกีฬาขี่ม้าเยาวชนแห่งประเทศไทย)

– จริง ๆ การหานางเอกที่มีความสวยผมว่ามันหาได้เยอะแยะมากมายเลย แต่สำหรับเจดเนี่ย เจสเป็นเด็กที่มีพร้อมทุกอย่าง สวย ดูแพง แล้วก็มีความสามารถเรื่องกีฬา เรื่องขี้ม้า เรื่องว่ายน้ำ คือเขาเก่งหมดทุกอย่าง ซึ่งนางเอกเรื่องนี้จะต้องไปเผชิญอะไรเยอะแยะมากมายเลย และที่สำคัญไปกว่านั้นคือเจสเป็นคนไม่รู้เรื่องวัฒนธรรมเลย ไม่เข้าใจมันเลย ไม่รู้จักมันเลย นั้นคือสิ่งที่พี่อยากได้ เพราะว่าการรู้จักแล้วแกล้งไม่รู้จัก เหมือนพี่ร้องเพลงเป็นแล้วแก้ลงร้องเพลงให้ค่อมจังหวะมันไม่เป็นธรรมชาติ เพราะยังไงพี่ก็ต้องร้องให้ลงจังหวะ

เหมือนเจสเขาไม่รู้เรื่องเลย คืออะไร ไม่รู้จริงๆ แล้วในภ.เรื่องนี้ พี่ไม่ให้เล่นเป็นเล่น แอคติ้งใหญ่ๆ คือเล่นตามธรรมชาติ ตามความรู้สึก เรารู้สึกที่จะพูดกับคนนี้ มีนนิ่งตรงนี้ว่าเราอยู่ตรงนี้ เหตุการณ์มันเกิดขึ้นอย่างนี้ คุณควรจะพูดด้วยน้ำเสียงประมาณไหน หน้าตาประมาณไหน ถ้าโอเวอร์พี่ไม่เอาเลย พอดีมาก ซึ่งเราจะได้ผลกับเจสเวลาที่เจสถามเรื่องวัฒนธรรม เขาถามด้วยความอยากรู้ เพราะเขาไม่รู้ เขาถามด้วยความอยากเห็นเพราะเขาไม่เห็น เวลาที่เขาเห็นโนราห์รำ เขาตื่นตามากเพราะเขาไม่เคยเห็น อันนี้เป็นสิ่งที่พี่คิดไว้ตั้งแต่ตอนแรกเลยว่า นางเอกของพี่จะต้องดิบจริงๆไม่มีข้อมูลอะไรยัดใส่ไปให้เขาเลย ไม่ใช่แบบว่าไม่เคยเห็นโนราห์แล้วบอกว่าสวยจังเลยเก่งจังเลย

ในภาพยนตร์ โนราห์ เป็นการรวบรวมบุคคล ผู้ใหญ่ ครูอาจารย์มโนราห์ของภาคใต้รุ่นเก่าหลายคนมาร่วมงานในหนังเรื่องนี้ คำถามคือทำได้อย่างไร

– บุคคลเหล่านี้เขาเมตตาผม เพราะผมเป็นปากเสียงให้กับ(วัฒนธรรม)สิ่งที่เขาเป็น และพวกเขาล้วนเป็นครูบาอาจารย์ทำงานในท้องถิ่น ไม่มีปากเสียงในส่วนกลาง ผมเปรียบเหมือนลำโพงดอกใหญ่ให้กับพวกเขา เขาก็เลยยินดีสนับสนุน ยินดีที่จะเข้าร่วม มาช่วย เหมือนการช่วยกันขับเคลื่อนศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นเหล่านี้ให้มันไปให้ไกลให้สุดให้ได้ มันเป็นความตั้งใจของผมอยู่แล้วที่จะชวนท่านเหล่านี้มาร่วมงาน

รวมตัวกันยากไหม

– ยากนะ เชิญก็ยาก เล่นก็ยาก เพราะว่าพวกเขาไม่เคยเล่นภาพยนตร์กันมาก่อน ก็ต้องใช้เทคนิคหลอกล่อกันต่าง ๆ นานา(หัวเราะ) ก็เป็นเทคนิคของผม ให้งานออกมา แต่เขาเล่นได้นะ

ทำไมมีคนทำงานในแนวของเอกชัยน้อย หรือมีเงื่อนไขอะไรที่ทำให้งานที่ดึงเอาวัฒนธรรมเก่ามาสู่กระแสหลัก มันมีน้อย ในวงการภาพยนตร์บันเทิงมันมีข้อจำกัดอะไร

– มีข้อจำกัดเรื่องทุน มันขาดทุน อย่างเรื่อง “เทริด” ถ้าผมเอาไปเสนอใคร ก็คงโดนให้กล้วยตั้งแต่ห้องประชุมแล้ว เพราะมันไม่ตอบโจทย์เขาไง แต่บังเอิญพอมันออกฉาย มันดันประสบความสำเร็จ เพราะงั้นมันบอกให้รู้ว่า ภาพยนตร์มันไม่มีสูตรสำเร็จหรอกว่า 1+2 ได้ 3 เพราะงั้นก็อยากให้คนหันมาคิดสร้างสรรค์แนวนี้เยอะๆเหมือนกัน และอยากให้รู้ผู้ใหญ่ในวงการบันเทิงก็ไม่มีใครไม่พร้อมที่จะให้โอกาส ทำไมพี่ถึงได้โอกาสจากเครือเมเจอร์ซีเนเพล็กซ์ล่ะ ก็เพราะเขาเห็นว่า เทริด ประสบความสำเร็จไง และงานใหม่ โนราห์ นี้เขาก็มาเติมเรื่องการตลาดลงไป แต่เขาไม่เข้ามาทำให้หนังมันเสียรส เสียความเป็นวัฒนธรรมที่เราทำนะ แต่เป็นการทำงานที่ให้เกียรติเรามาก (การตลาด)ที่มาเติม จะถามก่อนว่าถ้าใส่ตรงนี้ลงไป มันจะเสียหายกับตัวหนังไหม ซึ่งพี่เองก็ต้องเปิดใจให้กว้าง ยอมรับรับการตลาด มาร์เกตติ้งของเมเจอร์ฯของผู้ใหญ่เขาได้ด้วย ในเมื่อเขาให้

โอกาสเราทำงานในสิ่งที่เราอยากนำเสนอ เขาเผยแพร่งานให้ เราก็ควรจะหาเงินกลับมาให้เขาได้ด้วย คนทำอย่าไปยืนกระต่ายขาเดียว ว่างานกูต้องเสนอวัฒนธรรมล้วนๆ นะ พี่ไม่ขวาสุดซ้ายสุด เราเดินไปด้วยกันจับมือเดินไปด้วยกัน

ตรงนี้พี่อยากขอขอบคุณผู้ใหญ่ในเมเจอร์ฯ ที่เล็งเห็นความสำคัญของดอกหญ้าที่อยู่ไกลหูไกลตา ไกลจากวัฒนธรรมส่วนกลาง อันนี้สำหรับส่วนตัวพี่ ขอบคุณผู้ใหญ่มากที่ให้โอกาสทำงาน

การเลือกคนรุ่นใหม่ที่ทำงานศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่นมาร่วมแสดงในภาพยนตร์ เลือกยังไง และถ้ามองความเคลื่อนไหวของศิลปะวัฒนธรรมกลุ่มนี้ เขาอยู่ในระดับไหน มันซัคเซสมากไหมในคนดูกระแสหลัก

– มันเหมือนขนตา ที่เรารู้ว่ามันมีอยู่ไม่หายไปไหน แต่นับไม่ได้ว่ามีกี่เส้น (มโนราห์)ก็อยู่กับคนใต้มาตั้งแต่พี่เด็ก ๆ และตอนนี้มันก็ยังมีอยู่ มันมีอยู่ตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตาทวดโน่น และไม่เคยหายไปไหนเลย แต่มันไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาทำให้เป็นสากล มันไม่เคยข้ามประจวบฯ มาได้เลย (หมายถึงประจวบคีรีขันธ์จังหวัดเขตแดนรอยต่อภาคกลางฝั่งตะวันตกกับภาคใต้ของไทย) แต่วันนี้พี่จะพามันออกมา ข้ามประจวบ ข้ามไปอาเซียน ไปทั่วโลก ให้ต่างประเทศได้เห็น

อะไรคือเสน่ห์ของมโนราห์ ที่คนไม่ควรพลาดโอกาสในการเข้าไปดู

– เสน่ห์ของโนราห์ เปรียบเหมือนหนามทุเรียน มันมีปุ่มน้อยปุ่มใหญ่ แต่พี่จะหยิบประเด็นที่ให้เห็นว่า ท่ารำแบบนี้ ที่มันอ่อนช้อยแบบนี้ ถ้ามันจะลุกขึ้นมาประหัตถ์ประหารมันก็ทำได้นะ ในหนังจะได้เห็น แล้วคุณจะได้เห็นว่าถ้าโลกมันไม่มีวัฒนธรรมเลย โลกมันไม่น่าอยู่เลยนะ คนจะรู้สึกได้เลย เพราะมโนราห์มันเป็นมรดกของคนไทยที่เกิดขึ้นที่ภาคใต้ และหนังเรื่องนี้เราจะเล่าให้มันเป็นสากล

ไพศาล ขุนหนู

สิงหร ชายหนุ่มวัยยี่สิบ เป็นชาวเกาะสีชังแต่มีพื้นหลังเป็นหลานของเจ้าเมือง มีความสามารถด้านการรำโนราห์ เป็นคนมีเสน่ห์เป็นที่ต้องตาต้องใจเพศตรงข้าม ฉลาดมีไหวพริบเอาตัวรอดเก่ง กล้าหาญและพูดจริงทำจริง

ไพศาล เริ่มเล่นมโนราห์ตั้งแต่เมื่อไหร่

– ตั้งแต่เด็กเลยครับ ที่บ้านบังคับ (หัวเราะ) ครอบครัวมีคณะมโนราห์อยู่แล้ว คุณตา เล่นมโนราห์แบบพื้นบ้าน คือเป็นคณะมโนราห์ เพื่อการแก้บน คนตามหมู่บ้านต่าง ๆ ที่เขาไปบนบานศาลกล่าวอะไรงี้ ก็จะจ้างคณะมโนราห์ใหญ่ไปรำแก้บน เป็นเกี่ยวกับพิธีกรรมพื้นบ้านในภาคใต้ เราไปรำ(แก้บน)ให้ได้หมด ลูกหลานบ้านใครเจ็บไข้ได้ป่วย เราก็จะถือว่ามโนราห์ใหญ่ จะเก่งเรื่องคาถาอาคม อย่างมีใครโดนผีเข้าอะไรแบบนี้ เขาก็จะมาเรียกคุณตาผมไปรำมโนราห์แก้ให้

ไพศาลเริ่มเรียนจากมโนราห์พิธีกรรมก่อนหรือว่ายังไง

– ผมเริ่มเรียนท่ารำเบสิก ซึ่งรำมโนราห์นี่ใครจะไปต่อยอดสายไหนก็แล้วแต่คน ถ้าใครอยากไปสายพิธีกรรมก็ต้องเรียนเรื่องคาถาอาคม แต่ผมเรียนการรำเพื่อการแสดงธรรมดา ผมเริ่มเล่นมาตั้งแต่ 5 ขวบ ตอนนี้ผมอายุ 26 แล้ว รำมโนราห์มา 21 ปี ซึ่งผมว่าถ้าไม่เล่นมาแต่เด็ก มาฝึกทีหลัง มันค่อนข้างยาก เพราะท่ารำต่างๆ อย่างคุณตา มีท่ารำที่ผสมผสานทั้งความแข็งแรงและความอ่อนช้อย ต้องรำแบบตัวอ่อนเลย แต่พอมาเจอพ่อเอกชัย ศรีวิชัย พ่อเอกบอกว่า ไม่อยากได้ท่ารำแบบนั้น เพราะคนเขาเห็นว่าท่ารำมโนราห์อ่อนช้อยมาเยอะละ มันจะดูเป็นผู้หญิงไป ดูตุ้งติ้ง ๆ อะไรนี้ (ในหนังเรื่อง โนราห์) อยากเห็นแบบแข็งแรง ซึ่งถ้าใครได้ดูหนังเรื่อง เทริด จะเห็นว่า ท่ารำแข็งแรงแบบนั้นไม่เคยมีมาก่อน ผมเป็นคนแรกที่ทำแบบนั้น

ท่ารำถูกสร้างมาเพื่อตัวละครของไพศาลในหนังโดยเฉพาะ

– ใช่ครับ พ่อเอกพยายามสร้างคาแร็คเตอร์ให้แตกต่าง และบอกว่าถ้าผมรำเหมือนคนอื่น อ่อนช้อย หรือใส่ชุดโนราห์ปกติ มันก็ดูธรรมดาทั่วไป แต่ถ้าเรา (คิด) ท่ารำขึ้นมา แบบแข็งแรงรำให้เห็นกล้ามเนื้อ มันจะเป็นของๆเรา ที่ไม่เหมือนใคร และมันก็เป็นเอกลักษณ์ของผมไปเลย เพราะผมเป็นคนแรกที่รำมโนราห์แบบถอดเสื้อ(โชว์กล้ามเนื้อแข็งแรง) ในภาคใต้

ทำไมต้องรำถอดเสื้อ

– เริ่มจากตอนจะทำหนังเรื่อง เทริด พ่อเอกชัยเขาก็อยากให้ตัวละครของผมมีจุดเด่น ตอนนั้นผมยังชอบการกินอยู่เลย ไม่ได้มีกล้ามอะไร พอตอนเตรียมตัวถ่ายหนังเทริด พ่อเอกชัยก็ให้ผมไปเข้าฟิตเนส ผมก็งงเหมือนกันนะ ว่า จะรำมโนราห์ในหนังทำไมต้องไปฟิตเนสด้วย การรำผ่านกล้าม มันจะออกมาเป็นยังไง มันจะมีความอ่อนช้อยได้ไง เพราะเราเล่นฟิตเนส ร่างกายมันจะแข็งทื้อไปหมด แต่พ่อเอกชัยก็ยืนยันว่าไปเข้าฟิตเนสมาก่อน ผมก็ไปเล่นมาสามเดือน จากคนที่เคยมีพุง ก็กลายเป็นซิกแพคละ และก็มาเริ่มทำหนังเทริด พ่อเอกชัย ก็อธิบายว่า นี่นะ เธอจะเป็นโนราห์คนแรกที่รำท่ารำโนราห์ผ่านกล้าม และท่วงท่าแข็งแรง คนทั้งประเทศจะได้เห็นผ่านจอ มันจะดูสวยงามและไม่เหมือนใคร ผมก็ทำตาม

ท่ารำที่คิดขึ้นมาใหม่ ไพศาลช่วยคิดท่าขึ้นมาด้วยไหม?

– ช่วยครับ ก็ช่วยกัน โดยเฉพาะใน “โนราห์” ผมไปเรียนท่าศิลปะป้องกันตัวกับพี่จา พนม เพราะพ่อเอกชัย บอกว่า อินโดนีเซีย มี ปัญจสีลัต ที่รำต่อสู้กรีดนิ้วฟึบฟับได้ ท่ารำโนราห์ของเราก็น่าจะเอามาทำเป็นท่าต่อสู้ได้นะ ก็เลยไปหาพี่จา พนม ผมก็รำท่าพื้นฐานต่าง ๆ ของโนราห์ให้พี่จาดู แกก็ออกแบบท่ารำมาเป็นคิวบู๊ได้ สวยงาม ก็เอามาใช้ในหนังเรื่อง โนราห์ นี่ล่ะครับ มีคิวบู๊ที่ทุกคนเห็นแล้ว เฮ้ย มันได้ด้วยเหรอ ท่าโนราห์ยกแข้งยกขา ท่าหักมือ ปาดคอ ฟันแทง ด้วยท่ารำ มันกลายเป็นท่าของเราคนเดียวเลย แต่ตอนทำก็ยากเหมือนกันนะ เพราะผมรำได้แต่คิวบู๊ไม่เป็นเลย ในภาพยนตร์เราเห็นคิวบู๊สวยจริงจังแบบนั้น เพราะเราผ่านการคิดท่ารำผสมมาแล้ว แต่ถ้าจะให้ผมไปเล่นบู๊แบบ 1-2-3 แอ็คชั่น เตะต่อยเลย ผมคงทำไม่สวย แต่ทุกท่าที่ใช้ในหนัง โนราห์ มันคือท่ารำที่เพิ่มความแข็งแร็งและใช้เป็นการต่อสู้ครับ

ตัวละครของไพศาลใน โนราห์ เป็นใคร ทำอะไร ยังไงบ้าง ช่วยเล่าหน่อย

– ผมรับบทเป็น สิงหร ครับ สิงหร โตมาบนเกาะสีชัง ยุคเมืองสะทิงปุระ และตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเราอยู่บนเกาะนี้ เรามีอำนาจ เป็นเจ้าของเกาะ มีลูกน้อง มีคนรับใช้ เราไม่เคยรู้เรื่องเกี่ยวกับตัวเองในอดีตเลย ไม่รู้เลยว่าแม่เรามาจากไหนเป็นใครมาก่อนมาอยู่ที่นี่ และเราก็ตั้งคำถามกับแม่ว่า สุดขอบฟ้าสุดทะเลนอกเกาะนี้มีแผ่นดินอื่นอีกไหม แม่เราก็บอกว่าไม่มีแล้ว ซึ่งในคำพูดนี้ เรารู้สึกได้ว่าแม่ปิดบังความจริงบางอย่างกับเราอยู่

สิงหร เป็นตัวละครในอดีต ของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในหนัง โนราห์ ใช่ไหม

– ใช่ครับ ผมเป็นตัวละครในภพอดีต และได้มาเจอกับนางเอก ซึ่งเป็นคนในภพปัจจุบัน ที่เดินทางมาซื้อที่พัทลุง และกำลังจะรื้อบ้านหลังเก่าหลังหนึ่งเพื่อสร้างรีสอร์ทขึ้นมาใหม่ ซึ่งบ้านหลังนั้นเป็นบ้านของขุนศรัทธา ในหนัง เทริด มันก็มีความเชื่อมโยงกัน พอนางเอกในหนังโนราห์ เจอยอดเทริด(ชฎา)ในบ้านหลังที่กำลังจะรื้อ เขารู้สึกผูกพันและเก็บไว้ จากนั้นนางเอกก็ไปเที่ยวชมสถานที่ต่าง ๆ ในพัทลุง ไปจนถึงบึงบัวแล้วพลัดตกน้ำลงไป และข้ามภพไปสู่อดีต ซึ่งเวลาในปัจจุบันเป็นตกวูบลงไปในน้ำแค่สามวินาทีเอง แต่นางเอกข้ามภพย้อนไป 3 พันปี และได้ใช้เวลาที่นั่น 3 วัน (3 วิ ปัจจุบัน) พอกลับมาสู่ปัจจุบัน นางเอกก็ถามคนรอบข้างว่าเขาหายไปนานไหม ก็ได้คำตอบว่าหายไปแค่แวบเดียวเอง นางเอกก็งง เพราะเขาได้ไปเจออะไรในภพอดีตเรื่องราวมากมาย และเจอกับสิงหร ด้วย ซึ่งทำให้ตัวละครของผมได้รู้ว่าโลกนี้มีแผ่นดินกว้างใหญ่ไพศาล และก็ได้รู้เรื่องของแม่ด้วย

การได้มาร่วมแสดงหนังกับพ่อครูแม่ครูมโนราห์ที่รวมตัวกันในหนัง เรื่องนี้ รู้สึกอย่างไร

– ดีใจมากๆครับ ต้องบอกว่า ผมรู้จักกับแม่ๆ ทุกคนอยู่แล้วนะ เพราะในวงการมโนราห์ภาคใต้ เรารู้จักกันหมดอยู่แล้ว ผูกพันกันอยู่แล้ว บางครั้งผมก็ไปรำกับคณะแม่ๆด้วยอย่าง คณะแม่นกน้อย คณะมาลัยศิลป์ อะไรแบบนี้พอมาเจอกันก็สนุกสนาน แม่ก็เมตตาเอ็นดูผม ผมจะโดนแม่ๆ แซวว่า นี่ไม่นึกเลยว่าจะได้เป็นพระเอกหนังแล้ว เห็นเป็นเด็กๆเที่ยววิ่งอยู่หลังโรงมโนราห์อยู่เลย (หัวเราะ)

ไพศาลเป็นคนรุ่นใหม่ที่สืบทอดศิลปวัฒนธรรมท้องถิ่น คิดว่าคนดูรุ่นใหม่สนใจงานแนวนี้มากขึ้นไหม

– ผมว่าทุกวันนี้ มโนราห์ไม่เชยหรือล้าสมัยเลย เพราะมีเด็กคนรุ่นใหม่สนใจอยู่ และหลังจากหนังเรื่อง เทริด ออกฉายได้ถ่ายทอดเรื่องเกี่ยวกับโนราห์ออกไป คนก็ยิ่งเคารพนับถือเทริด เด็กๆหันมาเห็นคุณค่า ผมว่าศิลปะพื้นบ้านของเราอันนี้ไม่มีวันสูญหายแน่ๆ ถ้าเราได้ส่งต่อไปแบบนี้ คนรุ่นใหม่จะให้ความเคารพนับถือศิลปะพื้นบ้านและสืบทอดกันต่อไปครับ

ขอแนะนำ

เจด แองเจลิน่า โฟรม็องโต้

สาวน้อยวัน 14 ปี ลูกครึ่ง ไทย ฝรั่งเศส ดีกรี แชมป์นักกีฬาขี่ม้าเยาวชนแห่งประเทศไทย

นอร่าห์ หญิงสาวสวยคมอายุ 19 ปี ลูกครึ่งไทย-ฮอลแลนด์ เรียนอยู่มหาวิทยาลัยปี2 สาขาศิลปกรรม ชอบถ่ายภาพเป็นงานอดิเรก งานวิจิตรศิลป์ มีความมั่นใจในตัวเองสูง

มาเล่นหนังเรื่องนี้ได้อย่างไร?

– ก็ไปหาลุงเอก (เอกชัย ศรีวิชัย) อยู่บ่อย ๆ ค่ะ ไปกับคุณแม่ เพราะคุณแม่รู้จักกับลุงเอก นับถือกันเหมือนพี่น้อง จนวันหนึ่ง ลุงเอกก็บอกว่า เขาบอกอยากให้หนูเป็นนางเอกในหนังของลุงเอกค่ะ

ก่อนที่ลุงเอก (เอกชัย ศรีวิชัย) จะชวนให้มาเล่นหนัง เราสนใจการแสดงบ้างไหม?

– ไม่ค่ะ เวลาอยู่ที่ฝรั่งเศสก็มีไปเคสติ้งบ้าง แต่ก็ไม่ได้คิดว่าจะเป็นนางเอกค่ะ ตอนอยู่ที่ฝรั่งเศสก็ได้ถ่ายแบบบ้างค่ะ แต่ก็ยังเด็กประมาณ 3-4 ขวบ ก็เพิ่งกลับมาเมืองไทยเมื่อ 4 ปีที่แล้ว และลุงเอกก็มาทาบทามกับคุณแม่ค่ะ”

การแสดงยากไหม

– ก็ยากนะคะ และก็ต้องอดทนมาก ต้องตื่นตี 4 ตี 5 เสร็จประมาณตี 1 ของอีกวันเป็นบางวันนะคะ แต่ก็ไม่ยากมากถ้าจะทำให้ดี มีไปเรียนแอคติ้งก่อนด้วย ไปเรียนกับครูร่ม (ร่มฉัตร ธนาลาภพิพัฒน์) เรียนประมาณ 3-4 ชั่วโมงทุกอาทิตย์ พอเรียนแล้วก็ไม่ยากมากค่ะ แต่ต้องโฟกัสมาก เพราะถ้าไม่โฟกัสก็จะทำไม่ได้ค่ะ

มีปัญหาการใช้ภาษไทยบ้างไหม

– ไม่มีค่ะ เพราะซ้อมพูดคุยกับคุณแม่ตลอดค่ะ แต่เรื่องพูดไม่ชัดไม่มีปัญหาค่ะ เพราะในเรื่องก็ต้องพูดไม่ชัด เพราะเล่นเป็นลูกครึ่งอยู่แล้ว จริง ๆ เพิ่งมาฝึกพูดภาษาไทยเมื่อ 3-4 เดือนก่อนจะเริ่มถ่ายค่ะ ก่อนหน้านั้นไม่ค่อยได้พูดเลย เพราะที่โรงเรียนก็ไม่ได้เรียนภาษาไทย เคยเรียนนะคะ แต่ไม่ได้เรียนแล้ว และอยู่ที่ฝรั่งเศส

ด้วยก็เลยไม่ได้พูดภาษาไทย และไม่คิดว่าจะได้เป็นนางเอกด้วยค่ะ เพราะไม่รู้ว่าจะได้กลับมาเมืองไทย แต่ยังอ่านไม่ได้ค่ะ จะเป็นคุณแม่คอยช่วยอ่านให้ (ยิ้ม)”

เริ่มขี่ม้าตั้งแต่เมื่อไหร่ แล้วเล่นกีฬาอย่างอื่นด้วยไหม?

– ประมาณ 3 ขวบค่ะ เมื่อ 12 ปีที่แล้ว ชอบเพราะตอนขี่ม้าแล้วรู้สึกสนุก มีม้าของตัวเองด้วยชื่อจอร์จี้ อยู่ที่ไทยค่ะ ไปขี่ทุกวันเลยค่ะ ไปแข่งได้แชมป์ประเทศไทยด้วย แต่ปีนี้ไม่ได้แข่ง เพราะถ่ายหนังและมีสอบใหญ่ที่โรงเรียน ก็เลยไม่ได้ไปแข่งเก็บคะแนน ก็อาจจะไปแข่งอีกทีปีหน้าค่ะ และการขี่ม้าทำให้หนูมีความสุขค่ะ เป็นกีฬาด้วย และสนุกดีค่ะ แต่ก่อนก็มีเต้นค่ะ แต่เดี๋ยวนี้ยังเต้นอยู่ แต่ถ้าให้เลือกขี่ม้ากับเต้น หนูเลือกขี่ม้าดีกว่า เมื่อก่อนเล่นกีฬาเยอะค่ะ ก็มีเล่นเรือใบ สโนบอร์ด เวคบอร์ด บาสเก็ตบอส รักบี้ เทควันโด คาราเต้ เล่นหลายอย่างค่ะ ชอบเล่นกีฬามาก ถ้าไม่ได้เล่นกีฬาจะรู้สึกเบื่อ การเล่นกีฬาทำให้รู้สึกสนุกค่ะ เหมือนคุณพ่อค่ะ คุณพ่อก็เล่นกีฬาเยอะ”

เป็นนักกเล่นกีฬาขี่ม้าด้วย แล้วทำไมถึงสนใจการแสดง

– ก็เป็นโอกาสที่ดีมากที่ได้รับมา ต้องขอขอบคุณลุงเอกมากที่ให้โอกาสนี้ เป็นประสบการณ์ที่ดีมากค่ะ

ลุงเอกมีแนะนำการแสดงอะไรให้ไหม ดุรึเปล่า?

– ลุงเอกแนะนำเยอะมากค่ะ เขาช่วยหนูมากตอนไปถ่ายค่ะ เขาเหมือนเป็นแอ็คติ้งโค้ช เขาจะอยู่กับหนูและอธิบายว่าต้องเล่นยังไง ทำยังไง ส่วนเรื่องดุ มีครั้งเดียวค่ะ (หัวเราะ) เป็นซีนที่เจอพระเอกครั้งแรก หนูจำบทไม่ได้ ลุงเอกก็วี๊ดขึ้นมาว่าทำไมจำบทไม่ได้ (หัวเราะ) หนูกลัวมาก แต่เขาดุครั้งเดียวค่ะ เพราะเขาอยากให้ฉากออกมาสวย

ในเรื่องต้องทำอะไรเกี่ยวกับการรำโนราห์บ้าง?

– มีรำค่ะ ก็ต้องไปเรียน สนุกมากค่ะ (ยิ้ม) เด็ก ๆ ในเรื่องรำดีมากค่ะ แต่หนูรำไม่ดีเลยค่ะ หนูไม่เคยรู้จักการรำโนราห์มาก่อนด้วยค่ะ แต่ลุงเอกก็เอามาให้ดูค่ะ

หลังจากนี้จะเข้าสู่วงการบันเทิงเต็มตัวเลยไหม?

– ใช่ค่ะ ตอนนี้ซํนสัญญาเป็นนักแสดงกับทาง M Pictures แต่จะเต็มตัวมั้ย คงต้องคุยกับคุณพ่อคุณแม่ก่อน เพราะติดเรื่องเรียนด้วยค่ะ แต่ก็ย้ายมาอยู่ที่ไทยถาวรแล้วค่ะ เรียนที่ไทยเลย โดขึ้นก็อยากเป็นทนายค่ะ

เพราะพ่อเขาบอกว่าหนูพูดเยอะ พูดเก่งน่าจะเป็นทนายได้ (หัวเราะ) หนูก็รู้สึกว่าน่าสนใจ และหนูเคยเป็นประธานนักเรียนอยู่ 3 ปีด้วยค่ะ ก็เลยชอบ และปีนี้หนูวางแผนกับเพื่อนว่าอยากจะไปเป็นจิตอาสาที่ภาคเหนือค่ะ อยากไปช่วยช้าง เพราะหนูรู้สึกว่าคนช่วยเขายังไม่พอ หนูชอบช่วยคน หนูรักสัตว์ด้วย

อรรถพงษ์ สงแก้ว (บอล วงวงกลม) ชานนท์

หนุ่มชาวใต้วัยยี่สิบห้า หน้าตาทะเล้นทะลึ่ง มีความกวนผสมความตลก จบนิติศาสตร์ประกอบอาชีพเป็นนายหน้าค้าที่ดิน

แนะนำตัว

– สวัสดีครับ ชื่อจริงชื่อนายอรรถพงษ์ สงแก้ว ตอนนี้อายุ 24 ปี ก่อนหน้านี้เป็นนักร้องอยู่วงชื่อ วงกลม ภาคใต้ เป็นคนจังหวัดตรัง ทำมา 8 ปีแล้ว เริ่มตั้งแต่ตอนที่เป็นนักเรียน

เพลงที่ได้รับความนิยมสูงสุดของเรา

– คิดว่าน่าจะเป็นเพลงชื่อว่า แฟนคนใหม่ ยอดวิวน่าจะอยู่ที่เก้าสิบกว่าล้านวิวครับ เพลงอื่น ๆ ที่รองลงมา คือเพลง ตลอดชีวิต ยอดวิวอยู่ที่ ห้าหกสิบล้าร มีเพลงของตัวเองอยู่ที่ประมาณสามสิบเพลง ทำเป็นอัลบั้มครับ พอมาอัลบั้มที่สามก็ค่อย ๆ ปล่อยเป็นซิงเกิ้ลออกมา เดี๋ยวนี้น่าจะไม่เหมาะกับปล่อยเป็นอัลบั้ม เพลงล่าสุดชื่อว่าเพลง คนเมื่อคืน ยอดวิวอยู่ที่ประมาณสามสิบล้าน

เป็นมายังไงถึงได้มาเล่นภาพยนตร์

– ย้อนไปช่วงเปิดหนังเรื่องเทริด ตอนนั้นเหมือนกับน้าเอก (เอกชัย ศรีวิชัย) จะทำหนังแล้วก็ต้องการลูกหลานชาวใต้ ที่เป็นศิลปินอยู่ภาคใต้ ก็เลยให้น้าหลวงไก่ ซึ่งผมสนิทกับน้าหลวงไก่อยู่แล้ว แกก็เลยติดต่อมาทางน้าหลวงไก่ว่า ต้องการนักร้องนักดนตรีให้มาอยู่ในหนังเทริด ที่เป็นหนังที่เป็นความภาคภูมิใจของคนภาคใต้ เลยอยากได้คนภาคใต้มาอยู่ในหนังให้เยอะที่สุด น้าหลวงไก่ก็เลยติดต่อผมมา แต่ทีแรกติดต่อพี่อีกคนหนึ่งแต่พี่เขาคิวไม่ว่าง ก็เป็นเรื่องบังเอิญที่ได้เล่นหนังเรื่องนั้น ทำให้ต่อยอดมาถึงเรื่องนี้ พอได้เล่นแล้วแกโดนใจ ชอบพอ ก็เลยได้รับโอกาสจากน้าหลวงไก่ น้าเอกชัยอีกที

ในเรื่องเทริดเล่นเป็นอะไร

– รับบทชื่อบอล เป็นเพื่อนของพระเอกก็คือ ไพศาล คือเรื่องแรก ประมาณ 2-3 ปี แกก็บอกว่าถ้าเรื่องหน้าแกทำก็จะให้มาเล่นอีก

แสดงว่าพี่เอกชัยติดใจการเล่นหนังของเรา

– ผมว่าที่จริงเราก็ไม่ได้เก่งกาจเรื่องการแสดง แต่ว่าด้วยบทที่เราได้มาไม่ได้เป็นบทที่ยากมากมาย เหมือนอยู่ที่ผู้กำกับด้วย แกสามารถที่จะบอกเราได้ น้าเอกก็สอนเราทำให้เราเล่นง่ายขึ้น เจอทีมงานที่เป็นมืออาชีพ แรกๆก็กลัวเพราะไม่เคยเล่นหนัง แต่มาเจอทีมงานที่เป็นมืออาชีพเขาไม่ได้สร้างความกดดันให้เรา ทำให้เรารู้สึกว่าเฮ้ย นายทำได้นะ ทำให้เรากล้าที่จะเล่นไปเรื่อย ๆ ถ้าจะให้ไปเล่นบทจริง ๆ จัง ๆ ก็ไม่แน่ใจว่าฝีมือถึงหรือเปล่า

ในเรื่อง โนราห์ รับบทเป็นใคร

– ผมรับบทเป็น ชานนท์ ครับ เป็นคนกวน ๆ คล้าย ๆ กับบอลใน เทริด คิดว่าตัวเองหล่อ ตัวเองเท่ จีบนางเอกทั้งเรื่อง เป็นบทที่ไม่ได้ฉีกจากเรื่องแรกเท่าไหร่ ทำให้เราเล่นได้เป็นตัวเอง ไม่ได้ยากเท่าไหร่ นิสัยก็จะมีส่วนคล้าย ๆ กันอยู่ เพราะมีนิสัยทะเล้น ๆ

เล่าบรรยากาศในการเข้าฉาก

– เวลาเข้าฉาก ผมจะมีงานทัวร์คอนเสริ์ตด้วย เดือนนี้มีงาน 10-20 งาน ต้องประสานงานกับพี่ๆเขาด้วย บางทีก็เกือบไม่ได้นอน เหมือนเล่นเสร็จ ลงจากเวทีก็ตีรถเข้ามากองถ่ายเลย คือทีแรกก็คือว่าเราจะไหวมั้ย เพราะเราถ้าอดนอนจะงัวเงีย เราจะตื่นเที่ยงทุกคน พอทำไปทำมาก็ทำได้ ไม่ได้หนักหนามากมาย ด้วยทีมงานของน้าเอกหาเวลาให้เราพอดี บรรยากาศในกองโอเค กับข้าวอร่อยทุกมื้อ

พี่เอกเป็นไงบ้าง

– เวลาทำงานน่ากลัว เสียงดัง แกด่าเลย แต่แกจะดูนักแสดงว่า คนนี้ถ้าด่าแล้วจะเล่นต่อไม่ได้ แกดูว่า คนนี้ต้องด่าถึงจะเล่นได้ แกรู้จักทุกคนที่มาแสดง แกเข้าใจเราด้วย ผมถ้าโดนด่าโดนกดดันอะไร ผมอาจจะเล่นไม่ออก กับผมแกจะให้ความเป็นกันเอง

ผลงานเรียบร้อยเป็นที่น่าพอใจมั้ย

– ก็พอใจในระดับหนึ่งแต่ว่าจะดีไม่ได้อยู่ที่ท่านผู้ชมว่าจะตัดสินใจยังไง เพราะเราก็น้องใหม่ อาจจะมีแข็ง ไม่เป็นมืออาชีพเท่าไหร่ ยังไงก็ฝากเนื้อฝากตัวด้วยครับ

น้องเจดเป็นไงบ้าง

– เจดอายุ 14 ปี ผมไม่รู้ว่าน้องอายุเท่าไหร่แต่ด้วยความที่น้องดูเป็นผู้ใหญ่ แสดงหนังขึ้น ตอนผมอายุ14 ผมยังดีดลูกแก้ว โดดยางกับสาวข้างบ้านอยู่เลย พอมาเห็นน้องอายุเท่านี้เล่นหนังแล้ว ทีแรกผมไม่เชื่อ แต่เราเข้าฉากกันบ่อย ก็จะเห็นมุมที่น้องเขาเป็นเด็ก เข้ากองตอนแรกยังยกมือไหว้อยู่เลย ฝีมือการทำงานเกินอายุ คิดว่า นางเอกเอามาจากไหนเนี่ย

ฝากผลงาน

– หนังเรื่องโนราก็เป็นหนังเรื่องที่2 ในชีวิตผม เองนี้ก็ได้รับบทบาทมากกว่าเรื่องแรก คือเรื่องเทริด ก็ฝากถึงแฟนๆที่ติดตาม และแฟนๆวงกลม ก็ไม่อยากให้พลาด ดูแลติชมได้ นอกจากร้องเพลงแล้ว การแสดงเป็นยังไง แล้วเรื่องนี้ที่สำคัญคือเป็นเรื่องของโนรา ชาวภาคใต้ ภาคอื่นก็อยากให้มาดูกันว่า วัฒนธรรมของใต้เป็นยังไง แล้วก็มีเพลงเป็นเพลงของค่ายทีเอ็มจีเรคคอร์ททำเพลงประกอบในหนังเรื่องนี้ ก็ฝากติดตามเพลงของค่ายนี้ในภาพยนตร์เรื่องนี้ จะเป็นเพลงอะไรยังไงก็ฝากติดตามครับ

สน เดอะสตาร์

พรานทิพย์

ชายวัยสี่สิบ เป็นชาวประมงบนเกาะสีชังมีความสามารถในการต่อสู่เอาตัวรอด

มีวิชาอาคมและเป็นเพื่อนสนิทต่างวัยของสิงหร

บทที่รับเล่นเป็นอย่างไรบ้าง

– บทยากเสมอ เพราะมีบู๊ด้วย แบบว่าต้องใส่ท่ารำ ที่เป็นท่าพรานแล้วไปบู๊ เป็นสิ่งแปลกใหม่มาก เป็นคิวแอคชั่นที่ถูกดีไซน์มาเพื่อ เรื่องนี้ ผมคนเดียวที่ได้เล่น เป็นคนแรกที่ดีไซน์มาแบบนี้ ก็เลยดีใจ มันสวยมาก ตลก สนุกสนาน เป็นคิวแอคชั่นที่หัวเราะได้

ฝึกนานมั้ย

– ก็ซ้อมหน้ากอง แต่พี่เขาส่งคิวมาให้ดูก่อน พอเราได้ดู ก็ทำการบ้านแล้วมาซ้อมกันหน้าคิว แต่ก็อยากตรงอากาศร้อนมาก

ถ่ายที่ไหนบ้าง

– ถ่ายที่ใต้ครับ หลาย ๆ ที่ แล้วก็มาถ่ายที่แถวปทุม มีวันหนึ่งที่ถ่ายที่เขื่อนเชี่ยวหลาน คือเราต้องอยู่กันกลางแดด ทีมงานก็จะเซ็ต คือการเซ็ตที่เขื่อนเชี่ยวหลาน เซ็ตในเขื่อน ผมก็ยืนอยู่บนแพที่กลางเขื่อน เราเป็นผู้ชายยังพอว่า แต่นางเอกน้องยังเด็ก โอโห้ แน่นอนใส่ชูชีพไม่ได้อยู่แล้ว แต่ทีมงานเซฟ

เล่าถึงนางเอกของเรื่องหน่อย

– น้องน่ารัก ความเป็นเด็กก็นิ่งภาษาเขา แต่มีฉากหนึ่งที่ตกใจมากคือเขาขี่ม้า ม้าเป็นคนละตัว ไม่ใช่ม้าของเขา การส่งสัญญาณของม้าไม่เหมือนกัน วันนั้นม้าสปีดเต็มมาก น้องลงมาช๊อคร้องไห้ ตกใจกันทั้งกอง แต่เรื่องการแสดงน้องโอเค นางเอกหน้าใหม่ ด้วยวัยที่เด็ก แต่ก็สามารถถ่ายทอดตัวละคร นอร่า ผมว่าโอเค น้องตั้งใจ คือแบบผมไปอยู่กลางเขากลางทะเลกลางแดดผมยังพอทนเพราะเรามันเด็กบ้านนอก เราชินอยู่แล้วแต่เด็กที่มาจากฝรั่งเศสแต่ต้องไปอยู่แบบนั้นสุด

พระเอกละครับ

– ไพศาลไม่ต้องพูดถึง เขาตั้งใจอยู่แล้ว ทุกอย่างที่เขาทำ เกิดมาเป็นพระเอก ตั้งใจในงาน หลายครั้งที่ไปดูเขารำ เรารู้จักเขาก่อนหน้านี้ เจอกันที่สนามบินแล้วทักทายกัน หลังจากนั้นปีหนึ่งได้มาร่วมงานกัน

พูดถึงพี่เอกชัย ก่อนหน้านี้รู้จักเป็นการส่วนตัวมั้ย

– รู้จักครับ เพราะว่าพี่สาวผมเคยจ้างพี่เอกชัย ไปล้อมรั้วแล้วเก็บเงิน ผมไปดูก็ชอบพี่เอกชัยตั้งแต่ตอนโน้น น่าจะสิบกว่า ผมเล่นดนตรีกลางคืน ตอนนั้นพี่เอกชัยร้องเพลงหนูนุ้ยศรีวิชัย เพลงผัวน้องพร ตอนนั้นดังมาก ซึ่งตอนเล่นดนตรีที่ใต้ ผมก็จะร้องเพลงเหล่านั้น พี่เอกดังมานานแล้ว เพลงอดีตรักบ้านนา เป็นเพลงที่พวกเราก็ร้อง พี่เอกเป็นขวัญใจชาวใต้อยู่แล้ว เวลาออกคอนเสิร์ตทั้งหัวเราะทั้งร้องเพลง

เคยคิดว่าจะได้ร่วมงานกันบ้างไหม

– ไม่เคยคิดว่าจะได้ร่วมงานกับพี่เอก เพราะเทริดภาคที่แล้วผมก็ไม่ได้ร่วมงาน แต่ผมก็รู้สึกว่าพี่เอกอุส่าห์ทำหนังที่บ่งบอกความเป็นคนใต้ ผมก็นัดเพื่อนไปดู ในขณะถ่ายทำความทรงจำเก่าที่ย้อนกลับมาในเฟสบุ๊ค เราก็เฮ้ย เรื่องนี้เราได้เล่นนี่หว่า ก็ดีใจ แม่ทัพศิลปินใต้ พี่เอกเป็นคนแรกที่พาความเป็นใต้ที่ไม่ใช่แบบดั้งเดิม แต่มีความเป็นสมัยใหม่เข้ามาผสม พอเราได้มาร่วมงานภูมิใจมาก

ในกองพี่เอกเป็นไงบ้าง

– สนุกมากครับ พี่เอกกันเอง ง่าย ๆ ยิ่งได้มาถ่ายทอดในรูปแบบที่เราชอบด้วย เป็นตัวละครในหนังที่เราก็ชอบ พอมันเกี่ยวกับโนรา เราชอบหมด เพราะพี่สาวก็รำมโนราห์ พี่เอกก็รู้จัก แม่ ๆ ครูโนราห์ ก็รู้จักกันหมด เขาก็เห็นผมตั้งแต่เด็ก ผมอยู่โรงโนราห์ตั้งแต่เด็ก

เคยรำโนราห์ด้วย?

– ไม่ ๆ เวลาพี่สาวคนโตไปเขาก็จะพาผมไปด้วย

ฝากผลงาน

– สำหรับแฟนคลับพี่เอก แฟนคลับผมนะครับก็ขอฝากหนังเรื่องนี้ ตั้งใจมากที่จะเผยแพร่ความเป็นเอกลักษณ์ใต้ หนังไม่ได้ดูเครียดนะครับ มีทั้งซึ้ง ตลกและก็มันเป็นหนังที่คนที่ไม่ใช่คนภาคใต้ก็จะได้รู้ว่าที่มาของมโนราห์มายังไง แต่ก็ไม่ได้ดั่งเดิมซะทีเดียวมีการดัดแปลง แต่ผมว่าดัดแปลงได้อย่างสมูทเพลิดเพลินการได้รู้จักวัฒนธรรมซึ่งกันและกันมันเป็นสิ่งที่ดีมาก มันจะทำให้สังคมบ้านเราแข็งแก่งขึ้น เหมือนพี่เอกไปร้องหมอรำ ในช่วงหลายปีมานี้หนังไทยก็ไม่ได้ทำรายได้สักเท่าไหร่ ผมก็อยากให้สนับสนุนหนังไทยกัน มาดูเพื่อเป็นกำลังใจให้ผู้กำกับหนังไทยทั้งเรื่องนี้และอีกหลายๆเรื่องครับ