(จากซ้ายไปขวา) ผศ.พญปัญญ์ชลี แก่นเมือง ผศ.พญอัสมา นวสกุลพงศ์ และ รศ.นพศิวศักดิ์ จุทอง โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

 

กรุงเทพฯ  แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ผสานความร่วมมือ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ นำร่อง Asthma Smart Kiosk  โครงการติดตั้งตู้อัจฉริยะเสริมประสิทธิภาพการดูแลผู้ป่วยโรคหืด เพื่อเป็นอีกหนึ่งแรงสนับสนุนการขจัดอัตราการเสียชีวิตด้วยโรคหืดในคนไทยอย่างถาวร

 

โรคหืดเป็นโรคระบบทางเดินหายใจที่เป็นปัญหาสำคัญในประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในปัจจุบันที่สภาพอากาศเลวร้ายลงและเต็มไปด้วยมลพิษที่ส่งผลเสียต่อสุขภาพ ในปีหนึ่งๆ ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากโรคหืดถึงกว่า 4,000 คนต่อปี (ข้อมูลปี พ.ศ. 2563[1])  อย่างไรก็ตาม โรคหืดป้องกันได้หากผู้ป่วยสามารถควบคุมโรคได้ดีและขจัดปัจจัยเสี่ยงต่อการกำเริบเฉียบพลันซึ่งอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต

บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ประเทศไทย ในนามโครงการ Healthy Lung ร่วมกับคลินิกโรคระบบทางเดินหายใจ อายุรแพทย์โรคระบบหายใจและภาวะวิกฤติระบบหายใจ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ เห็นความสำคัญในการจัดการปัญหานี้ จึงผสานความร่วมมือนำร่องนวัตกรรมเพื่อเสริมประสิทธิภาพการดูแลโรคหืด โดยมีการพัฒนาและติดตั้งตู้อัจฉริยะ Asthma Smart Kiosk เป็นเครื่องแรกในประเทศไทย ที่บริเวณคลินิกผู้ป่วยนอกแผนกอายุรกรรม โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ โดยตู้อัจฉริยะนี้จะทำหน้าที่เสมือนผู้ช่วยบุคลากรทางการแพทย์ในการช่วยดูแลผู้ป่วยโรคหืดใน เรื่องหลัก ได้แก่

  • ประเมินสถานการณ์ควบคุมโรคหืดของผู้ป่วย ว่าสามารถควบคุมโรคได้ดีหรือไม่ รวมถึงการประเมินความเสี่ยงที่สัมพันธ์กับการพึ่งพายาสูดพ่นขยายหลอดลมเพื่อบรรเทาอาการชนิดออกฤทธิ์สั้นมากเกินไป ด้วยแบบประเมินง่ายๆ แต่เป็นมาตรฐานสากลที่ผู้ป่วยสามารถทำได้ด้วยตนเองที่ตู้อัจฉริยะ
  • ชุดคำถามทบทวนอาการที่อาจบ่งชี้ถึงโรคหืดสำหรับผู้ป่วยรายใหม่ เพื่อช่วยลดเวลาในการประเมินอาการของแพทย์ และช่วยให้ไม่พลาดอาการสำคัญของผู้ป่วย
  • วีดีโอสาธิตและสอนวิธีการใช้งานอุปกรณ์สูดพ่นยา สำหรับรักษาโรคหืดทุกรูปแบบ ที่ผู้ป่วยโรคหืดทุกคนต้องใช้ของสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งการใช้อุปกรณ์สูดพ่นอย่างถูกวิธีมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อผลการรักษา ตู้อัจฉริยะนี้จะช่วยให้ผู้ป่วยได้เรียนรู้และทบทวนการใช้อุปกรณ์สูดพ่นยาของตนว่าใช้อย่างถูกวิธีหรือไม่
  • แหล่งรวมสื่อความรู้เกี่ยวกับโรคหืดและแนวทางการดูแลสุขภาพ สำหรับผู้ป่วย ผู้ดูแล และประชาชนผู้สนใจ เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติสามารถใช้เวลาช่วงรอคิวเข้าตรวจในการทำความเข้าใจเกี่ยวกับโรคที่ตนเองหรือญาติเป็น รวมถึงเข้าใจความเสี่ยงของการกำเริบ และเรียนรู้การปฏิบัติตนที่ถูกต้องเพื่อให้โรคไม่กำเริบ

นายแพทย์กร ตาลทิพย์ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯ วางแผนขยายโครงการความร่วมมือด้านนวัตกรรมนี้ไปสู่สถานพยาบาลอื่นๆ ในประเทศไทยเพื่อส่งเสริมการสร้างสุขภาพที่ดีของคนไทยอย่างยั่งยืน และขอขอบคุณโรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่เอื้อเฟื้อการดำเนินโครงการนำร่องให้ประสบความสําเร็จเป็นอย่างดี รวมถึงคำแนะนำทางวิชาการอันเป็นประโยชน์อย่างยิ่งจากคณาจารย์และบุคลากรทางการแพทย์ของโรงพยาบาล ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้โครงการประสบความสำเร็จในก้าวแรก และเป็นแนวทางในการพัฒนาต่อไปในอนาคต

ตู้อัจฉริยะ Asthma Smart Kiosk จะเป็นตัวช่วยที่สำคัญของบุคลากรทางการแพทย์และสถานพยาบาล ในการยกระดับการดูแลผู้ป่วยโรคหืดให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการคลินิกโรคหืดภายใต้ทรัพยากรบุคคลและเวลาอันจำกัด และไม่พลาดข้อมูลสำคัญของผู้ป่วย ซึ่งจะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการดูแลผู้ป่วยโรคหืดภายใต้แนวคิด Zero Asthma Clinic 3 ประการ คือ ปลอดการใช้ยาและอุปกรณ์ที่ผิดหลักทางการแพทย์ ปลอดการกำเริบเฉียบพลันของโรคหืด และปราศจากการเสียชีวิตด้วยโรคหืดอย่างถาวร

###

 

โครงการ Healthy Lung Thailand

โครงการ Healthy Lung Thailand ได้เริ่มต้นดำเนินมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2561 โดยมีจุดประสงค์ในการมุ่งสร้างการตระหนักรู้และ สนับสนุนการเข้าถึงการวินิฉัยโรคและการรักษาโรคหอบหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ผ่านความร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งองค์กรจากภาครัฐ เอกชน และการแพทย์ เพื่อเสริมสร้างให้คนไทยมีสุขภาพปอดที่แข็งแรง

 

เกี่ยวกับ แอสตร้าเซนเนก้า

แอสตร้าเซนเนก้า (ชื่อย่อหลักทรัพย์ AZN ในตลาดหลักทรัพย์ LSE/ STO/ Nasdaq) เป็นบริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ชั้นนำระดับโลก มุ่งเน้นทางด้านการคิดค้น พัฒนา และจำหน่ายยาเพื่อการรักษาโรค โดยเฉพาะในกลุ่มยาโรคมะเร็ง กลุ่มยาโรคหัวใจ ไต และระบบเผาผลาญ และกลุ่มยาโรคทางเดินหายใจ แอสตร้าเซนเนก้า มีฐานอยู่ที่เมืองเคมบริดจ์ สหราชอาณาจักร และดำเนินธุรกิจในกว่า 100 ประเทศ และมีผู้ป่วยหลายล้านคนทั่วโลกที่ได้รับประโยชน์จากนวัตกรรมยาต่างๆ จากแอสตร้าเซนเนก้า สำหรับข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาไปยังเว็บไซต์ astrazeneca.com และช่องทางทวิตเตอร์ @AstraZeneca