• นักแสดง: เหลียง เฉาเหว่ย จาง จื่ออี๋ เฟย์ หว่อง

2046 เล่าถึงปี ๑๙๖๖ (อันเป็นช่วงต่อเนื่องจากเหตุการณ์ในเรื่อง In the Mood for Love พอดี) นักเขียนหนุ่มเพลย์บอยโจวมู่อวิ๋น (ขณะที่เรื่อง In the Mood for Love เขาไม่มีวี่แววของการเป็นเพลย์บอยเลย) จากฮ่องกงมาที่สิงคโปร์ก็เพราะอดีตคนรัก (แสดงโดยจางมั่นอวี้) และที่นี่เขาก็ถูกปฏิเสธรักจากซูลี่เจิน (แสดงโดยก่งลี่) นักพนันสาวที่มีชื่อเดียวกับอดีตคนรักของเขา เขาจึงตัดสินใจออกจากสิงคโปร์เพื่อกลับฮ่องกงตามลำพัง เขาได้พบลู่ลู่ (แสดงโดยหลิวเจียหลิง) โดยบังเอิญ โจวพาลู่ลู่ที่เมาแอ๋กลับไปส่งที่โรงแรมโอเรียนทัล โฮเตล ห้อง ๒๐๔๖ ซึ่งเป็นเลขที่ห้องที่โจวมู่อวิ๋นในเรื่อง In the Mood For Love ใช้เขียนหนังสือและนัดพบกับซูลี่เจิน ลู่ลู่เล่าเรื่องราวความรักของตนกับคนรัก (แสดงโดยจางเจิ้น นักแสดงหนุ่มจากเรื่อง Crouching Tiger, Hidden Dragon) ในภายหลัง โจวกลับมาที่โรงแรมอีกครั้ง แต่เธอก็ไม่อยู่เสียแล้ว (เขารู้ทีหลังว่าเธอถูกแฟนฆ่าตาย)

เขาแสดงความจำนงว่าต้องการเช่าห้อง ๒๐๔๖ แต่เมื่อเจ้าของโรงแรมบอกว่าห้องดังกล่าวไม่ว่าง โจวมู่อวิ๋นจึงไปพักห้อง ๒๐๔๗ ที่อยู่ข้าง ๆ แทน เขาได้รู้จักลูกสาวเจ้าของโรงแรมชื่อหวังจิ้งเหวิน (แสดงโดยหวังเฟย – ชื่อหวังจิ้งเหวินยังเป็นชื่อที่หวังเฟยใช้สมัยเข้าวงการใหม่ ๆ อีกด้วย) ซึ่งพักอยู่ในห้องหมายเลขแห่งความทรงจำ ความรักของเธอกับแฟนชาวญี่ปุ่นถูกบิดาคัดค้าน ระหว่างนั้นโจวก็เขียนนิยายว่าด้วยโลกอนาคตในปี ๒๐๔๖ ที่มีตัวละครคือหนุ่มญี่ปุ่น (แสดงโดย ทาคุยะ คิมูระ) เดินทางไปสู่ ๒๐๔๖ เพื่อตามหาความทรงจำของตน เพราะที่นั่นเรื่องใด ๆ ล้วนไม่เปลี่ยนแปลง และบนรถไฟขบวนนั้นเองที่เขาได้พบรักกับพนักงานหุ่นยนต์สาว (หวังเฟย) เขาขอร้องให้เธอออกจากรถไปกับเขา แต่เธอไม่ได้ตอบรับ

ในชีวิตจริงหลังจากนั้น หวังจิ้งเหวินก็ไปญี่ปุ่นเพื่อแต่งงานกับแฟนหนุ่ม โจวมู่อวิ๋นส่งนิยายที่เขาเขียนให้เธออ่าน ซึ่งเธอก็ฝากพ่อมาบอกว่าตอนจบเศร้าเกินไป ดังนั้นเขาจึงแก้ไขเสียใหม่

ระหว่างนั้นโจวยังมีความสัมพันธ์กับไป๋หลิง (แสดงโดยจางจื่ออี๋ หรือที่คนไทยเรียก จางซิยี่) ซึ่งมาเช่าห้อง ๒๐๔๖ เธอรักเขาแต่เขาปฏิเสธที่จะผูกมัดตัวเอง ในที่สุดเธอจึงจากเขาไป
การเล่นกับ “เวลา” ดูจะกลายเป็นเครื่องหมายการค้าของหว่องกาไวไปเสียแล้ว จากภาพยนตร์ไตรภาคนี้ (หากเราเชื่อว่ามันเป็นอย่างนั้น) ใน Days of Being Wild ซวี่จื่อ (แสดงโดยเลสลี่จาง) กล่าวกับซูลี่เจินว่า “เพราะเป็นคุณ ผมถึงจำเวลา ๑ นาทีนี้ได้ นับจากนี้ไปเราเป็นเพื่อนกันแล้ว ๑ นาที นี่เป็นเรื่องจริง คุณไม่อาจปฏิเสธได้ เพราะมันเป็นอดีตไปแล้ว…” ขณะที่เรื่อง In the Mood for Love ก็มีนาฬิกาเรือนโตอยู่ในฉากบ่อยครั้ง ไม่เพียงสองเรื่องนี้เท่านั้น หากหนังเรื่องอื่นของหว่องกาไวก็ยังคงปรากฏสัญญะเรื่องเวลาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะเรื่องความรักกับวันหมดอายุของสับปะรดกระป๋องใน Chungking Express หรือคำพูดของหวังจื่อหมิง (แสดงโดยหลีหมิง) ในเรื่อง Fallen Angels ที่ว่า “ฉันไม่รู้หรอกว่าคนพวกนี้เป็นใคร และฉันก็ไม่สนใจด้วย เพราะเดี๋ยวพวกเขาก็จะกลายเป็นประวัติศาสตร์ไปแล้ว”

ในขณะที่ Days of Being Wild เล่นกับ “จุดเวลา” ๑๕ นาฬิกาของวันที่ ๑๖ เมษายน ปี ๑๙๖๐ แต่เวลาของ 2046 กลับพลิกไปมาระหว่างอดีต ปัจจุบัน และอนาคต ซึ่งช่วงเวลาที่แตกต่างกันทั้งสามระดับนี้เองที่ทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า “ความทรงจำ”

โครงการหนังเรื่อง 2046 เกิดขึ้นในขณะหว่องกาไวถ่ายทำเรื่อง In the Mood for Love ในช่วงที่ฮ่องกงกลับไปเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีนในปี ค.ศ. ๑๙๙๗ และชาวฮ่องกงได้รับการยืนยันเพื่อความสบายใจจากรัฐบาลจีนคอมมิวนิสต์ว่าทางการจะไม่เปลี่ยนนโยบายปฏิบัติต่อฮ่องกงเป็นเวลา ๕๐ ปี ซึ่งปลายทางของมันก็คือปี ค.ศ. ๒๐๔๖

มีคนกล่าวว่า 2046 ได้รับแรงบันดาลใจมาจากวรรณกรรมเรื่อง One Hundred Years of Solitude ของ การ์เบรียล การ์เซีย มาร์เกซ นักเขียนรางวัลโนเบลชาวโคลัมเบีย 2046 จึงกลายเป็นภาพยนตร์ “ห้าสิบปีแห่งความโดดเดี่ยว” ในแบบฉบับของผู้กำกับจอมเดียวดาย

“ผู้โดยสารที่เดินทางไปสู่ปี ๒๐๔๖ ล้วนมีเพียงจุดประสงค์เดียว นั่นคือตามหาความทรงจำที่สูญหายไป เพราะที่ ๒๐๔๖ ทุกสิ่งล้วนไม่เปลี่ยนแปลงตลอดกาล ไม่มีใครรู้ว่านี่เป็นเรื่องจริงหรือไม่ เพราะแต่ไหนแต่ไรไม่เคยมีใครได้กลับมา ผมเป็นคนแรก…”

จากคำพูดของตัวละครหนุ่มญี่ปุ่นในนิยายของโจวมู่อวิ๋นที่ต้องการตามหาความทรงจำและความ “ไม่เปลี่ยนแปลง” เป็นสิ่งที่หว่องกาไวสะท้อนไปถึงฮ่องกง แผ่นดินอาศัยของเขา

ความทรงจำเป็นสิ่งที่บันดาลได้ทั้งความสุขสมและความขมขื่น ในหลายโอกาสความทรงจำหมายถึงความพร่องของชีวิตซึ่งไม่อาจเติมเต็มได้ จึงจำต้องเสาะแสวงทางออกในรูปของการโหยหาอดีต โจวมู่อวิ๋นกับความหลังที่มีต่อหญิงสาวชื่อซูลี่เจิน และความต้องการพักห้อง ๒๐๔๖ ก็เป็นลักษณาการเดียวกัน การที่เรื่องราวใน 2046 ตัดสลับกลับไปกลับมาระหว่างเหตุการณ์แต่ละช่วง ก็อาจมองได้ว่าเป็นธรรมชาติของความทรงจำซึ่งเกิดขึ้นเป็นห้วงๆ และคิดย้อนถึงเรื่องอื่นที่สัมพันธ์กันแบบไม่ปะติดปะต่อ ซึ่งว่ากันว่าตอนที่ถ่ายทำเรื่องนี้ เมื่อหว่องกาไวคิดถึงตรงไหนก็ถ่ายตรงนั้น โดยแทบไม่ได้อ้างอิงบทภาพยนตร์เลย (และนี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไม ธงไชย แมคอินไตย์ จึงมีบทบาทเพียงแค่ ๓ วินาที และกลายเป็นเรื่องเป็นราวใหญ่โตเมื่อถึงเวลาหนังเข้าเมืองไทย)

ความสัมพันธ์ระหว่างโจวมู่อวิ๋นกับหญิงสาวหลาย ๆ คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเขาก่อให้เกิดความทรงจำหลากรูปแบบ กับซูลี่เจิน (จางมั่นอวี้) นั้นอาจเป็นความทรงจำที่ตราตรึงอยู่ในใจ และต้องการให้วันคืนเก่าๆ หวนกลับมา กับซูลี่เจินอีกคน (ก่งลี่) มันอาจเป็นความทรงจำที่ดูลี้ลับมหัศจรรย์ เขาแพ้พนันเธอทุกครั้งที่ต้องการให้เธอตอบคำถามหรือว่าไปฮ่องกงกับเขา กับหวังจิ้งเหวินนั้นเป็นความทรงจำแบบศิลปินที่บันทึกเรื่องราวของเธอลงเป็นงานประพันธ์ กับไป๋หลิงนั้นอาจเป็นความรักที่ผิดที่ผิดเวลา แต่มันก็เป็นความทรงจำที่งดงาม

ภาพยนตร์เรื่องนี้และรวมไปถึง In the Mood for Love ล้วนเต็มไปด้วยฉากแห่งการจากลา ตัวละครตัวหนึ่งมีอันต้องจากสถานที่แห่งหนึ่งไป โดยขอให้อีกฝ่ายตามตนเองไปด้วย ทั้งโจวมู่อวิ๋นใน In the Mood for Love ที่ขอให้ซูลี่เจินไปสิงคโปร์กับตน และโจวมู่อวิ๋นในภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ขอให้ซูลี่เจิน (ก่งลี่) กลับฮ่องกงกับตน แฟนชาวญี่ปุ่นของหวังจิ้งเหวินขอให้เธอติดตามเขาไปญี่ปุ่น หนุ่มญี่ปุ่นในนิยายก็ขอให้หุ่นยนต์สาวออกจากรถไฟไปกับตน ทุกครั้งของการร้องขอนั้นฝ่ายชายล้วนได้รับคำตอบเป็นการปฏิเสธ (แต่ในบางกรณีฝ่ายหญิงก็ตามไปภายหลัง) ผลลัพธ์ของการจากลานี่เองที่ทำให้เกิดความทรงจำที่ทั้งสองเคยใช้เวลาร่วมกันในสถานที่แห่งนั้น

ในความสัมพันธ์กับซูลี่เจิน โจวมู่อวิ๋นจูบเธอแล้วบอกว่า หากคุณสามารถทิ้งอดีตไว้เบื้องหลังได้ก็จงไปกับผมเถอะ แต่สิ่งที่เธอทิ้งไว้เบื้องหลังกลับไม่ใช่อดีต หากเป็นเขา เมื่อเวลาผ่านไป โจวมู่อวิ๋นจึงค่อยเข้าใจว่าที่แท้แล้วคนที่ลืมอดีตไม่ลงกลับเป็นเขาต่างหาก

กล่าวสำหรับตัวผู้กำกับเอง การทำหนังสามเรื่องที่มีฉากหลังเป็นเหตุการณ์ในช่วงทศวรรษ ๑๙๖๐ ของศตวรรษที่แล้ว ก็บ่งชี้ถึงความทรงจำในวัยเยาว์ของหว่องกาไวเอง เพราะนั่นเป็นช่วงเวลาที่เขาในวัย ๕ ขวบติดตามพ่อแม่จากนครเซี่ยงไฮ้มาตั้งรกรากที่ฮ่องกง หรือแม้แต่ตัวละครซูลี่เจินใน 2046 (จางมั่นอวี้) อาจไม่ได้มีความหมายเพียงซูลี่เจินคนเดียวกับใน Days of Being Wild หรือว่า In the Mood for Love หากอย่างน้อยมันก็เป็นสัญญะที่หว่องกาไวสร้างผ่านหนังทั้งสองเรื่องเพื่อนำไปสู่ความหมายของ “ความทรงจำ” นอกจากจะเป็นความทรงจำของโจวมู่อวิ๋นต่อหญิงสาวที่เขาเคยรักแล้ว ยังเป็นการกระตุ้นความทรงจำของแฟนหนังของหว่องกาไวให้หวนนึกถึงหนังเมื่อ ๔ และ ๑๓ ปีก่อนดังกล่าวด้วย

ฉากใน 2046 ยังคงดำเนินต่อเนื่องมาจาก In the Mood for Love คือเป็นเรื่องในห้องเช่าสองห้องที่อยู่ติดกัน แม้ตัวละครจากห้องพักทั้งสองจะอยู่ใกล้ชิดกันในมิติของสถานที่ แต่พวกเขาก็ไม่อาจใช้ความใกล้ชิดนี้มาพัฒนาความสัมพันธ์ในแบบที่ตัวละครต้องการให้เป็นเลย ในเรื่อง In the Mood for Love โจวมู่อวิ๋นและซูลี่เจินแม้จะมีความรู้สึกดีๆ ให้แก่กัน แต่ก็ไม่อาจทำได้ดังใจปรารถนา เนื่องจากมีคำว่า “ศีลธรรม” ค้ำคออยู่ พวกเขาจึงทำได้เพียงโทรศัพท์คุยกันทั้งที่อยู่ข้างห้อง กินข้าวด้วยกัน หรือลอบมาหากันในบางโอกาส ขณะที่ใน 2046 แม้โจวมู่อวิ๋นจะอยู่ใกล้ชิดหวังจิ้งเหวิน เรียกเธอมาช่วยจดบันทึกนิยายตามคำบอก และเป็น ghost writer ในยามเขาป่วย ก็เพื่อจะรู้ว่าในใจของเธอไม่ได้มีเขา หรือไป๋หลิงที่เข้ามาอยู่ห้อง ๒๐๔๖ ในเวลาต่อมา เธอรักชายหนุ่มข้างห้อง และเขาก็แวะเวียนมาหาเธอบ่อยครั้ง แต่ครั้นเมื่อเสร็จกิจธุระบนเตียงเขาก็แต่งตัวผละจากไปอย่างไม่มีเยื่อใยทุกครั้ง

โจวมู่อวิ๋นทั้งในเรื่อง In the Mood for Love และ 2046 ต่างก็เป็นนักเขียนทั้งคู่ ต่างกันตรงที่ว่าในภาพยนตร์เรื่องแรกเขาเขียนเรื่องกำลังภายใน (และชวนให้ซูลี่เจินเขียนด้วย) แต่ในเรื่องหลังเขาเขียนเรื่องเกี่ยวกับโลกอนาคต ซึ่งแสดงนัยเพ้อฝันถึงโลกอดีต เขาใช้วรรณกรรมเป็นเครื่องบำบัดอาการล่องลอย หดหู่ แปลกแยก และเดียวดายของตนเองก็เช่นเดียวกับที่หว่องกาไวใช้ภาพยนตร์เป็นเครื่องบำบัดความรู้สึกล่องลอย หดหู่ แปลกแยก และเดียวดายของตนเองเช่นกัน