ในเดือนพฤษภาคมนี้นับว่าเป็นวาระและโอกาสที่สำคัญที่ประเทศไทยจะมีการจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกพุทธศักราช 2562 พระราชพิธีบรมราชาภิเษกนั้น ถือว่าเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งที่สำคัญของชาติไทย และถือว่าเป็นพระราชพิธีสำคัญยิ่งในการเป็นกษัตริย์ของทุกประเทศที่มีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข เป็นการประกาศถึงความเห็นชอบและยอมรับของปวงอาณาประชาราษฎร์ที่จะให้ทรงดำรงตำแหน่งผู้นำของสังคม และจะเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อได้ผ่านพระราชพิธีนี้  คือจากการเป็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 
รายการ เจาะประเด็น ทาง ช่อง 8 โดยมี ต่วย-ภคพงศ์ อุดมกัลยารักษ์ เป็นพิธีกรดำเนินรายการ ได้รับเกียรติจากนักประวัติศาสตร์ชื่อดัง ศ.ดร.สุเนตร ชุตินธรานนท์ ผู้อำนวยการศูนย์พหุวัฒนธรรมศึกษาและนวัตกรรมทางสังคม สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย 


มาร่วมพูดคุยถึงความหมายและความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก รวมทั้งสิ่งที่สำคัญนั่นก็คือ คติจักรพรรดิราช ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งที่สะท้อนออกมาผ่านพิธีบรมราชาภิเษก เพราะถือว่าสถาบันพระมหากษัตของไทยนั้นมีความผูกพันธกับประชาชน ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน
ก่อนอื่นขอถามถึงความหมายและความสำคัญของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก
พระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถือว่าเป็นพระราชพิธีที่สำคัญที่สุดพระราชพิธีหนึ่งอันสัมพันธ์กับพระมหากษัตริย์ แต่พระราชพิธีนี้ถ้าดูโดยชื่อ การอภิเษก คือการรดหรือสรงน้ำ เป็นการใช้น้ำเป็นสื่อในการยกสถานะผู้ปกครองนั้นขึ้นเป็นราชาที่เหนือราชาทั้งหลาย บรมราชาภิเษก บรมคือ เป็นใหญ่ เป็นใหญ่กว่า บรมราชาคือ ราชาที่เป็นใหญ่กว่าราชาทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ชื่อพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเท่าที่มีหลักฐานปรากฏ เป็นนามแห่งพระราชพิธีที่ใช้มาตลอดช่วงสมัยรัตนโกสินทร์ 


 
การจัดพระราชพิธีบรมราชาภิเษกมีเรื่องของคติและมีเรื่องของความเชื่อด้วย ซึ่งนั่นก็คือคติจักรพรรดิราช อยากให้อาจารย์ตีความและขยายความตรงนี้
ขอนับหนึ่งที่คติจักรพรรดิราช คำว่าจักรพรรดิราชในที่นี้หมายความถึง ผู้หมุนกงล้อ แต่โดยความหมายในทางการเมือง หมายถึงผู้ที่ปกครองแผ่นดินออกไปอย่างกว้างขวางอย่างน้อย ตลอดทั้งชมพูทวีป ซึ่งเป็น หนึ่งในสี่ทวีป ที่มนุษย์เราอยู่ ความคิดเรื่องการเป็นราชาที่ใหญ่กว่าราชาทั่วไป เป็นความคิดที่เป็นสากลไม่ใช่เรื่องของไทยเท่านั้น อย่างเช่น ในวัฒนธรรมมองโก มีหลายเผ่า หลายเหล่า คนที่จะขึ้นมาเป็นเจงกิสข่าน คือเป็นข่านที่เหนือข่านทั้งหลาย ทีนี้การที่จะก้าวเข้ามาเป็นผู้ที่เป็นใหญ่เหนือราชาทั้งหลายในคติของไทยและเพื่อนบ้านเรา อย่าง พม่า ลาว กัมพูชา เราจะรับทั้งคติพราหมณ์และคติพุทธ โดยเฉพาะพุทธเถรวาท เข้ามาผสมกัน ทำอย่างไรถึงจะแสดงให้เห็นว่าพระราชาของเราเป็นพระจักรพรรดิ มีวิธีทำได้ 3 วิธี
         
วิธีที่ 1 คือต้องพิจารณาว่าพระองค์มีบุญญาบารมี มากน้อยแค่ไหน จะวัดกันว่าพระองค์มีสมบัติพระจักรพรรดินั้นมาปรากฎในรัชกาลของพระองค์หรือเปล่า แต่ในวัฒนธรรมของไทยเราจะให้ความสำคัญของวัฒนธรรมของช้างเป็นหลัก นับช้างเผือก ถ้าพระมหากษัตริย์พระองค์ใดมีช้างเผือกมาสู่ก็ถือว่าทรงเป็นพระจักรพรรดิ เช่น สมเด็จพระมหาจักรพรรดิในสมัยอยุธยา หลักฐานไทยถือว่ามีช้างเผือกมาสู่พระบารมีถึง 7 เชือก ที่สำคัญคือสมบัตินี้ไม่ได้ถ่ายทอดให้รัชทายาทได้ เป็นสมบัติเฉพาะบุคคล เป็นบุญญาบารมีที่พระเจ้าจักรพรรดินี้สั่งสมมาแต่ชาติปางก่อน
          วิธีที่ 2 แผ่แสนยานุภาพ ปราบบ้านเล็กเมืองน้อยต่างๆ จนด้วยอิทธิพลทางการทหารทางการทูต ให้มีหลักฐานเห็นว่า มีบ้านเล็กเมืองน้อยส่งนักบรรณาการมาสู่พระราชสำนักของพระองค์ หรือมิฉะนั้นพระองค์จะต้องยกกองทัพ ไปปราบปรามให้ได้ชัยชนะ เช่นกรณีพระเจ้าบุเรงนอง ยกกองทัพมารบกับพระมหาจักรพรรดิ
          วิธีที่ 3 คือการประกอบพระราชพิธี ผู้ผ่านซึ่งพระราชพิธีนี้ก็จะได้การยกระดับ จากการที่อาจจะเป็นผู้ปกครองหรือเป็นราชา ขึ้นเป็นมหาราชา 
          ทีนี้เรากำลังพูดถึงพระราชพิธีราชาภิเษก หนึ่งใน 3 ปัจจัย กระบวนการของการยกสถานะ ของผู้ปกครองขึ้นมาเป็นราชาเหนือราชาทั้งหลาย 
 
สิ่งที่สำคัญของพิธีบรมราชาภิเษก มีการตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ 
มีการจัดพิธีทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย สำคัญอย่างไร
การได้มาซึ่งน้ำศักดิ์สิทธิ์จะเริ่มสัมพันธ์กับคติพระเจ้าจักรพรรดิราช เพราะน้ำศักดิ์สิทธิ์เดิมทีที่ได้มา เอามาจากสระสี่สระ จังหวัดสุพรรณบุรี ทำไมสุพรรณบุรีถึงมีสระสี่สระ เข้าใจว่าอันนี้น่าจะเป็นคติเกี่ยวกับจักรวาลของพราหมณ์มาแต่เก่าก่อน สี่สระนี้น่าจะแทนสี่มหาสมุทร แล้วขุดเป็น4บ่อด้วยกัน ในนครวัด ถ้าเข้าไปเกือยจะถึงกลางของนครวัด จะมีสระสี่สระ เพียงแต่น้ำแห้งไปแล้ว ไปที่พิมาย ก็จะเห็นสระสี่สระ ในลักษณะนี้  ทีนี้ในสมัยอยุธยา นับหนึ่งตั้งแต่สมัยพระรามาธิบดีที่ 1 อู่ทอง อาณาจักรอยุธยาประกอบด้วย เมืองสำคัญในเขตลุ่มน้ำลพบุรีเจ้าพระยา กับลุ่มน้ำทางสุพรรณบุรี รวมตัวกัน แต่ต่างก็ยังเป็นอิสระแก่กันอยู่ กษัตริย์ที่อยุธยาหรือผู้ที่สถาปนาอำนาจ จึงบอกว่าในการสถาปนาอำนาจของพระองค์ต้องไปเอาน้ำศักดิ์สิทธิ์จากสุพรรณบุรีมา ถ้าเอามาได้แสดงว่าผู้ที่จะรับน้ำอภิเษกนั้นมีอำนาจเหนือกว่ากษัติร์ที่สุพรรณบุรี แสดงว่าพระองค์ก็แสดงพระราชอำนาจในระดับหนึ่ง ต่อมาภายหลังอาณาจักรอยุธยาขยายเขตอิทธิพล การนำน้ำอภิเษกมาก็อาจขยายไปถึงพิษณุโลก ขยายไปยังที่อื่นๆ 
น้ำอภิเษกที่เอามาใช้ในพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ยิ่งไปเอามาได้จากบ้านเมืองที่อยู่ห่างไกลเท่าไหร่ก็แสดงว่าพระมหากษัตริย์นั้นมีแสนยานุภาพเหนือบ้านเล็กเมืองน้อยเหล่านั้น ลักษณะของนัยยะ ก็บ่งชี้ให้เห็นถึงพระองค์ไม่ได้เป็นราชาธรรมดา แต่พระองค์ทรงเป็นบรมราชา เพราะฉะนั้นการต้องไปตักน้ำศักดิ์สิทธิ์ตามที่ต่างๆ นี้ก็แสดงว่า พระองค์ต้องมีอำนาจเหนือปริมณฑลทั้งหลายจึงไปเอาน้ำนั้นมาประกอบพิธีอภิเษกได้ ต้องเข้าใจในเงื่อนไขนี้

ทีนี้น้ำศักดิ์สิทธิ์เข้ามาสัมพันธ์อย่างไรในเชิงสัญลักษณ์ คือน้ำศักดิ์สิทธิ์เอามาราดรดลงบนผู้ปกครองที่จะรับน้ำอภิเษกนี้ ด้วยพิธีบูรณาภิเษกคือ รดจากศีรษะลงมา พอน้ำศักดิ์สิทธิ์ไหลผ่าน บุคคลนั้นก็เท่ากับสะอาดบริสุทธิ์ พร้อมที่จะอยู่ในสภาวะการยกสถานะขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เพราะฉะนั้นพระมหากษัตริย์ของเราตอนที่ทรงรับน้ำบูรณาภิเษกนี้จะทรงชุดขาวแล้วทรงรับน้ำศักดิ์สิทธิ์นี้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องไปเอาน้ำศักดิ์สิทธิ์มา เพราะฉะนั้นการที่นำน้ำศักดิ์สิทธิ์มาจากทั่วทุกจังหวัดรวมถึงกรุงเทพมหานครจึงค่อนข้างจะมีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ที่อาจจะต่างไปจากการยกพระมหากษัตริย์ขึ้นเป็นพระเจ้าจักรพรรดิ์ แต่อาจจะสะท้อนให้เห็นว่าพระองค์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์มีบุญญาบารมี ดูแลความทุกข์สุขของอาณาประชาราช ทั่วทุกจังหวัด ประชากรทั่วทุกที่ในแผ่นดินไทย ก็อาจจะมีความหมายตีความไปในทำนองนี้ได้ 
 
ถ้าเราดูในยุครัตนโกสินทร์จากรัชกาลที่1 เรื่อยมาจนถึงรัชกาลที่ 9 
พระราชพิธีบรมราชาภิเษกก็จะมีความเปลี่ยนแปลง หรือลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไร อันนี้เป็นเรื่องปกติ ต้องเข้าใจ แต่ละยุคแต่ละสมัยย่อมแตกต่างกันไปได้ พระราชพิธีนี้ไม่ได้ประกอบเหมือนกัน และไม่ใช่ในรัชกาลเดียวจะประกอบพระราชพิธีแค่ครั้งเดียว ในบางช่วงเวลาซึ่งสภาพบ้านเมืองยังไม่สงบเรียบร้อย ยังมีภัยศึกสงครามก็อาจจะประกอบแบบสังเขป แต่พอบ้านเมืองเรียบร้อยก็มาประกอบแบบครบถ้วนกระบวนความได้ 
 
ขั้นตอนการประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกในยุคปัจจุบัน
มีออกมา 5 ขั้นตอนคือ 1. ขั้นเตรียมพิธี 2. พิธีเบื้องต้น 3. พิธีบรมราชาภิเษก 4. พิธีเบื้องปลาย และ  5. คือเสด็จพระราชดำเนินเลียบพระนครโดยขบวนพยุหยาตราทั้งทางสถุนมาศและชลมาศ (ทั้งทางถนนและทางน้ำ) 
 
สามารถติดตามเรื่องราวต่อได้ ในรายการ เจาะประเด็น ออกอากาศวันพุธที่ 1 พฤษภาคม เวลา 13.35 ทาง ช่อง 8 

ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบ